Skip to content

มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

โรคมะเร็ง จัดเป็น 1 ใน 10 ของสาเหตุการตายของประชากรโลก และมากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วยโรคมะเร็งอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่ามะเร็งที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่ และ มะเร็งเต้านม ถ้าจำแนกตามเพศพบว่า มะเร็งที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 5 อันดับแรกในเพศชาย ได้แก่มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งหลอดอาหารตามลำดับ สำหรับในเพศหญิงได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งปากมดลูก ตามลำดับ องค์การอนามัยโลกได้ประมาณการณ์ไว้ว่าในปี 2563 จะมีประชากรโลกตายด้วยโรคมะเร็งมากกว่า 11.4 ล้านคน และอยู่ในประเทศกำลังพัฒนามากกว่า 7 ล้านคน

จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งในประเทศไทย ใน Cancer in Thailand Vol.IV 1998-2000 พบว่า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง พบเป็นอันดับ 3ในเพศชาย (รองจากมะเร็งตับและมะเร็งปอด) มีอุบัติการณ์คือ 8.8 ต่อประชากรแสนคน และเป็นอันดับ 5 ในเพศหญิง (รองจากมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ และมะเร็งปอด) โดยมีอุบัติการณ์7.6 ต่อประชากรแสนคน อายุที่พบส่วนใหญ่มากกว่า 50 ปี อย่างไรก็ตามจากข้อมูลใน หลายๆ โรงพยาบาลพบว่าแนวโน้มเริ่มเป็นในคนอายุน้อยลง หากวินิจฉัยได้เร็วและได้รับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่ระยะแรกผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปีถึงร้อยละ 90 แต่ถ้าเป็นระยะท้ายซึ่งมีการแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นๆ อัตราการรอดชีวิตเหลือเพียงร้อยละ10

มะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมักเกิดจากติ่งเนื้อขนาดเล็ก ที่เรียกว่า โพลิป (Polyp) เป็นเซลล์เนื้อผิดปกติ ที่งอกจากผนังลำไส้ มีขนาดประมาณปลายนิ้วก้อย เนื่องจากขนาดที่เล็กของติ่งเนื้อ จึงทำให้ผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติ โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี ในการเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งลำไส้ ซึ่งหากสามารถตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่เริ่มแรกและทำการตัดรักษาได้จนหมดจะเป็นการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

สาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้แก่

  1. การรับประทานอาหารประเภทเนื้อแดง หรือเนื้อสัตว์แปรรูปอื่นๆ
  2. น้ำหนักตัวเกินมาตรฐานหรืออยู่ในภาวะอ้วน
  3.  ขาดการออกกําลังกาย
  4.  สูบบุหรี่
  5.  ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจํา
  6.  มีประวัติเนื้องอกที่ผนังลําไส้ใหญ่และไม่ใช่เนื้อร้าย
  7.  ประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลําไส้ใหญ่และทวารหนัก

coloncancer symtom

อาการ

อาการที่พบมักขึ้นกับ ตำแหน่งของมะเร็งเช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ด้านขวา จะมีอาการอ่อนเพลีย ซีดจากการเสียเลือด เรื้อรัง น้ำหนักลด ปวดท้อง หรือคลำได้ก้อน ถ้ามะเร็งลำไส้ใหญ่ด้านซ้าย มาด้วยอาการ ปวดท้อง ถ่ายเป็นมูกเลือด ท้องผูกสลับท้องเสีย และถ้ามะเร็งอยู่ที่ทวารหนัก (rectum) อาจมีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือด ซีดลง ถ่ายไม่สุด ถ่ายลำเล็กลง ถ่ายเป็นเม็ดกระสุน จนถึงอุดตันจนถ่ายไม่ออก

การคัดกรองโรค เป็นวิธีการตรวจหาโรคก่อนที่จะมีอาการทางคลินิกหรือรอยโรคก่อนที่จะเป็นมะเร็ง (Precancerous)

  1. กลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก(High risk)
    • ผู้มีญาติลำดับแรกเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
    • ผู้ที่มีประวัติ Polyp
    • ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง
    • ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease)
  2. กลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงปกติต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก (Average risk)
    • ชายหรือหญิงที่อายุ 50 ปีขึ้นไป
    • ไม่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็ง
    • ไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ได้แก่ ประวัติโรคลำไส้อักเสบ ulcerative colitis, polyp หรือ มะเร็งลำไส้ใหญ่
    • ไม่มีอาการผิดปกติทางระบบลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่มีหลายวิธี

  1. ตรวจอุจจาระหาเลือดที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ปีละครั้ง
  2. การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ทุก 5 ถึง 10 ปี
  3. การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Flexible sigmoidoscopy) ร่วมกับ การตรวจสวนแป้งลำไส้ใหญ่ (double contrast Barium enema) ทุก 5 ปี
  4. การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ด้วยภาพเสมือนจริง (Computed tomography colonoscopy) ทุก 5 ปี

ทั้งนี้การตรวจเม็ดเลือดแดงแฝงในอุจจาระ ด้วยวิธี Fecal Immunochemical Test (FIT) เป็นวิธีที่นิยมใช้กันในปัจจุบันเนื่องจากขั้นตอนในการเตรียมตัวไม่ยุ่งยากซับซ้อน แต่วิธีการตรวจคัดกรองที่เป็นที่ยอมรับที่สุดในปัจจุบัน คือ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เนื่องจากการตรวจด้วยวิธีนี้นอกจากจะให้ข้อมูลที่มีความแม่นยำที่สุดแล้ว ยังสามารถทำการรักษาในกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ได้อีกด้วย

Fecal Immunochemical Test (FIT)

colonoscopy fit

การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

coloscopy

การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่มี 3 วิธีหลักที่สำคัญได้แก่ การผ่าตัด รังสีรักษา และเคมีบำบัด

แนวทางการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

  1. รับประทานอาหารที่มีกากใยสูงเช่น ผักและผลไม้ รวมไปถึงอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันต่ำจะช่วยลดการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
  2. รับการตรวจคัดกรอง สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ในผู้ที่ไม่มีอาการและไม่มีปัจจัยเสี่ยงควรเริ่มต้นที่อายุ 50 ปี สำหรับผู้ที่มีประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว ควรเริ่มตรวจคัดกรองที่อายุ 40 ปี

บรรณานุกรม

  • https://www.prachachat.net/advertorial/news-340782 วันที่ 22 กรกฎาคม 2563
  • http://mkho.moph.go.th/mko/frontend/web/uploads/aa3bc8ca8ecf0131281d73194b666202.pdf วันที่ 30 กรกฎาคม 2563
  • https://www.si.mahidol.ac.th/office_d/adm/gi_scope/colono.html วันที่ 30 กรกฎาคม 2563
  • http://www.nci.go.th/th/cpg/download%20lumsai/02.pdf วันที่ 30 กรกฎาคม 2563
  • https://www.chulacancer.net/patient-list-page.php?id=41 วันที่ 30 กรกฎาคม 2563

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง