ตับเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่หลายอย่างในร่างกาย การเกิดโรคตับ ตับอักเสบ หรือความปกติใด ๆ ในตับ จึงเป็นปัญหาซีเรียสที่อาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างไม่รู้จบได้ ซึ่งการเกิดปัญหาที่ว่านั้นมักมีเริ่มต้นมาจากภาวะที่เรียกว่า “ตับอักเสบ”
นิยามของตับอักเสบ
Hepatitis (n.) หรือ ตับอักเสบ คือภาวะที่เนื้อเยื่อตับได้รับความเสียหายไม่ว่ามาจากสาเหตุอะไรก็ตาม และในภาวะเดียวกันนี้ภูมิคุ้มกันร่างกายก็เข้ามาต่อต้านและพยายามกำจัดสิ่งแปลกปลอมในเนื้อเยื่อตับ อาจกล่าวได้ว่าภาวะตับอักเสบเป็นกระบวนการอย่างหนึ่งที่ร่างกายพยายามรักษาและฟื้นฟู เซลล์หรือเนื้อเยื่อในตับให้กลับมาปกติ
ชนิดของตับอักเสบ
ตับอักเสบแบ่งเป็น 2 ชนิดหลัก ๆ คือ ตับอักเสบเฉียบพลัน และตับอักเสบเรื้อรัง ชนิดเฉียบพลันสามารถหายไปได้โดยที่ไม่ก่อปัญหาสุขภาพร้ายแรง ในขณะที่หากเกิดตับอักเสบและอยู่ในร่างกายอย่างยาวนาน จะถูกเรียกตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเป็นตับอักเสบชนิดที่น่าเป็นห่วงที่สุด เพราะในระยะยาวอาจส่งผลให้เกิดแผลในตับซ้ำ ๆ จนทำให้เกิดพังผืดในบริเวณแผลเหล่านั้น สะสมกลายเป็นโรคตับแข็งในที่สุด (Liver Cirrhosis) และหากโชคไม่ดีประกอบกับการมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง ผู้ป่วยบางคนที่เป็นโรคตับแข็งก็อาจพัฒนาไปสู่โรคมะเร็งตับได้
อาการตับอักเสบ
ผู้ป่วยหลายคนที่เป็นตับอักเสบ มักไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย ไม่ชัดเจน แต่หากอักเสบรุนแรงขึ้นผู้ป่วยอามีอาการเช่น
- อ่อนเพลีย
- รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
- เบื่ออาหาร
- มีไข้ต่ำ ๆ
- ปวดเมื่อยตามตัว
- ปัสสาวะสีเข้ม
- มีภาวะตัวเหลือง หรือ ดีซ่าน
หากอาการร้ายแรงมาก ๆ ควรพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคตับแข็งแล้วก็ได้
สาเหตุที่ทำให้ตับอักเสบ
สิ่งที่ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบได้ โดยหลัก ๆ มาจาก 3 สาเหตุ ที่พบบ่อยมี 2 สาเหตุคือการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบและตับอักเสบการแอลกอฮอล์ ส่วนอีกหนึ่งสาเหตุเป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อยนักคือ ตับอักเสบจากภูมิคุ้มกัน
ไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A)
เชื้อไวรัสตับอักเสบเอ เป็นเชื้อไวรัสมักปนเปื้อนมากับอาหารและเครื่องดื่มที่รับประทาน เมื่อได้รับเชื้อเข้าไปในร่างกาย เชื้อจะใช้เวลาฟักตัวอยู่ที่ 2-6 สัปดาห์ จนกว่าจะมีอาการเช่น ปวด คลื่นไส้ คัน นอกจากนี้เชื้อจะปนเปื้อนออกมากับอุจจาระของผู้ป่วยตั้งแต่ช่วง 2 สัปดาห์ก่อนมีอาการ และโดยธรรมชาติของไวรัสชนิดนี้ มันสามารถทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน ไวรัสตับอักเสบเอจึงพบได้ในพื้นที่ชุมชนที่สภาพแวดล้อมและสุขอนามัยไม่แข็งแรง
อย่างไรก็ตามไวรัสชนิดนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเดินทางไปประเทศหรือพื้นที่ชุมชนที่ขาดการดูแลด้านสุขอนามัย ควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B)
เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดนี้เป็นหนึ่งในชนิดที่เป็นปัญหาและยังถูกเฝ้าระวังในประเทศไทยและทั่วโลก จากข้อมูลในแผนยุทธศาสตร์กำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ พ.ศ.2565-2573 กรมควบคุมโรค คาดการณ์ว่าในประเทศไทยน่าจะมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ประมาณ 2.2-3 ล้านคน
ไวรัสตับอักเสบบีส่งต่อจากสู่คนสู่คนผ่านเลือด พบได้บ่อยในการแพร่ผ่านเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาหรือของมีคมร่วมกัน และการแพร่จากมารดาสู่บุตรขณะคลอด ผู้ติดเชื้อมักเป็นตับอักเสบแบบเฉียบพลัน ซึ่งส่วนใหญ่มักหายได้เอง แต่หากได้รับเชื้อแต่เด็ก หรือร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับไวรัสได้หายเองมักทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ปัจจุบันไวรัสตับอักเสบบีสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน
ไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C)
สถานการณ์การระบาดของไวรัสตับอักเสบซีเป็นไวรัสที่ถูกเฝ้าระวังทั้งในไทยและทั่วโลกเช่นเดียวกันกับไวรัสตับอักเสบบี จากการคาดการณ์ในแผนยุทธศาสตร์ฉบับเดียวกันได้ระบุเอาไว้ในปี พ.ศ.2557 ว่า ประเทศไทยน่าจะมีผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังประมาณ 3 แสน 5 หมื่นกว่าราย
การติดต่อไวรัสตับอักเสบซีโดยหลักการคือแพร่ผ่านเลือดเช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งเสี่ยงรับได้เชื้อไวรัสได้จาก การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาซ้ำหรือใช้ร่วมกัน การใช้มีดโกนหรือแปรงสีฟันร่วมกัน รวมถึงการใช้อุปกรณ์สำหรับสูบหรือเสพสารเสพติด
ไวรัสตับอักเสบซีมักมีอาการไม่ชัดเจน อาจมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เพียงเล็กน้อย เมื่อติดเชื้อมีโอกาสหายเองได้ แต่ก็สามารถทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรังได้เช่นกัน ที่สำคัญยังไม่มีวัคซีนป้องกันเหมือนไวรัสตับอักเสบเอและบี ปัจจุบันการรักษาตับอักเสบเรื้อรังจากสาเหตุนี้จะเป็นการรักษาด้วยยา
ไวรัสตับอักเสบดี (Hepatitis D)
ในจำนวนชนิดไวรัสตับทั้ง 5 ชนิด ไวรัสตับอักเสบดีจะแตกต่างไปจากชนิดอื่น เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จะเกิดขึ้นกับผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังเท่านั้น เพราะไวรัสตับอักเสบดีต้องอาศัยการมีอยู่ของไวรัสตับอักเสบบีถึงจะสามารถอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้
อย่างไรก็ตามไวรัสชนิดนี้โดยส่วนใหญ่มักแพร่ผ่านเลือดและการมีเพศสัมพันธ์ พบบ่อยในยุโรป ตะวันออกกลางแอฟริกา และอเมริกาใต้ ไวรัสชนิดนี้ไม่ได้มีวัคซีนป้องกันโดยเฉพาะแต่หากได้รับวัควีนไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B vaccine) จะช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดีไปโดยปริยาย
ไวรัสตับอักเสบอี (Hepatitis E)
ปัจจุบันไวรัสตับอักเสบอีอาจยังไม่ได้มีจำนวนผู้ติดเชื้อในจำนวนมากเท่าไวรัสตับอักเสบชนิด เอ บี และซี แต่ลักษณะในการติดเชื้อหรือแพร่กระจายจะคล้ายกับไวรัสตับอักเสบเอ คือ สามารถติดเชื้อได้จากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนไวรัส ซึ่งการปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมก็เกิดจากอุจจาระของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบอี การระบาดอาจจึงอาจเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ขาดสุขอนามัยที่ดีเช่นเดียวกับการระบาดของไวรัสตับอักเสบเอ
ตับอักเสบการแอลกอฮอล์
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากและติดต่อกันเป็นเวลานานจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพตับโดยตรง ตับอักเสบจากแอลกอฮอล์เป็นระยะโรคตับระยะแรก ๆ ที่จะนำไปสู่ภาวะไขมันพอกตับ โรคตับแข็ง ตับวาย และในบางคนอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งตับได้ ซึ่งเราสามารถลดความเสี่ยงที่จะเป็นตับอักเสบจากสาเหตุนี้ได้จากการดูแลสุขภาพ และจำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ตับอักเสบจากภูมิต้านทานของตัวเอง (Autoimmune hepatitis)
โรคตับอักเสบจากภูมิกันเป็นสาเหตุที่พบได้น้อย เกิดขึ้นจากการที่ภูมิต้านทานในร่างกายโจมตีเซลล์เนื้อเยื่อตับ ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าทำไมภูมิต้านทานในร่างกายถึงต้องทำลายเนื้อเยื่อตับ แต่ก็พบว่าอาจมีความเกี่ยวข้องกับยีนและสภาพแวดล้อมบางอย่าง การรักษาตับอักเสบจากภูมิต้านทานของตัวเองจะใช้ที่ช่วยควบคุมภูมิต้านทานในร่างกายและยาที่ช่วยลดการอักเสบ
อย่าชะล่าใจกับตับอักเสบ
จริงอยู่ตับอักเสบไม่อาการ หรือมีอาการเล็กน้อย และไม่ได้สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตมากนัก แต่นี่คือจุดเริ่มต้นของโรคตับอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง เราจึงควรตระหนักถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพตรงนี้ให้มาก ๆ
ที่สำคัญการลดความเสี่ยงตับอักเสบด้วยตัวเองจสามารถทำได้ง่ายไม่ยากเลย เพียงแค่รักษาสุขภาพ มีสุขอนามัยที่ดี มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสม รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด พร้อมหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้เราคอยติดตามสุขภาพก่อนที่โรคบางโรคจะก่อตัวและสะสมจนเป็นอันตราย
หากมีข้อสงสัยสามารถทำนัด สอบถามข้อมูลหรือปรึกษากับทีมศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ ได้ที่ทุกช่องทางการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา
Reference,
American Liver Foundation. (2023). Hepatitis and Inflammation. Retrieved from https://liverfoundation.org/about-your-liver/how-liver-diseases-progress/hepatitis-inflammation/
National Health Service. (2022). Hepatitis. Retrieved from https://www.nhs.uk/conditions/hepatitis/
Johns Hopkins Medicine. (n.d.). Hepatitis A. Retrieved from https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/hepatitis/hepatitis-a/
กรมควบคุมโรค. (2023). ยุทธศาสตร์กำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ พ.ศ.2565-2573. สืบค้นจาก https://ddc.moph.go.th/das/journal_detail.php?publish=13807&deptcode=das