ตับเป็นอวัยวะสำคัญทำหน้าที่เพื่อสมดุลร่างกายหลายอย่าง โรคตับหรือความผิดปกติที่ตับเป็นปัญหาร้ายแรงที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้อวัยวะอื่น ๆ เพราะโรคตับมีความหลากหลายทั้งตัวโรคและสาเหตุ ผลกระทบต่อร่างกายสามารถเป็นไปได้ทั้งอาการที่ไม่รุนแรงมากจนถึงอาการที่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต
โรคตับคืออะไร ?
โรคตับเป็นคำนิยามอย่างกว้าง ๆ เกี่ยวกับความผิดปกติในการทำงานของตับ หรือเนื้อเยื่อตับเกิดความเสียหาย โรคตับจึงหมายถึงการที่ตับได้รับบาดเจ็บ เกิดแผลเป็นชนิดถาวร หรือการเกิดพังผืดขึ้นในเนื้อตับ อาการเหล่านี้ล้วนส่งผลให้การทำงานของตับแย่ลง การผลิตโปรตีนช้าลง กรองและขับสารพิษในร่างกายได้ช้าลง ระบบไหลเวียนเลือดที่ส่งมาตับไหลได้ไม่สะดวก เมื่อระบบการทำงานของตับแปรปรวนอาจส่งผลให้เกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้
ความรุนแรงของโรคตับ
โรคตับส่งผลร้ายแรงต่อการทำงานของตับ ปัจจุบันมีการจำแนกความรุนแรงและความเสียหายของโรคตับออกเป็น 4 ระยะ ซึ่งแต่ละระยะก็จะส่งผลให้ตับมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลงไปตามลำดับดังนี้
- ระยะที่ 1 ตับอักเสบ ตับมีการตอบสนองต่อความผิดปกติในเนื้อเยื่อ ระยะนี้ตับจะพยายามกำจัดสารพิษ ต่อต้านเชื้อโรค และฟื้นฟูรักษาเนื้อเยื่อ โดยปกติหากเป็นการอักเสบเฉียบพลันเช่นการติดเชื้อเฉียบพลันจากไวรัสตับอักเสบ ตับมักจะรักษาตัวเองได้ แต่หากไม่สามารถรักษาตัวเองได้สำเร็จ จะก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรังซึ่งอาจก่อให้เกิดพังผิดในตับได้
- ระยะที่ 2 ตับมีพังผืด พังผืดในตับเกิดขึ้นจากแผลในเนื้อเยื่อตับที่เรื้อรังมากขึ้น ระยะนี้เป็นจุดเริ่มต้นสู่การเป็นโรคตับแข็ง ส่วนที่เป็นพังผืดจะลดการไหลเวียนขอบเลือดในตับ ทำให้ออกซิเจนและสารอาหารเข้าสู่ตับลดลง
- ระยะที่ 3 ตับแข็ง ตับแข็งเป็นระยะที่พังผืดก่อตัวถาวรจนไม่สามารถรักษาตัวเองได้ ระยะนี้เป็นระยะที่เริ่มส่งผลต่อการทำงานของตับอย่างรุนแรง
- ระยะที่ 4 ตับวาย ในระยะนี้ตับจะไม่สามารถทำหน้าได้ตามความต้องการของร่างกายอีกต่อไป เมื่อการทำงานของตับเริ่มเสื่อมลง ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย ภาวะตับวายเรื้อรังเป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไป แต่ท้ายที่สุดแล้วอาจถึงแก่ชีวิตได้หากไม่มีการปลูกถ่ายตับ
โรคมะเร็งตับ
คนที่เป็นโรคตับอยู่ในระยะตับแข็งหรือตับวาย อาจจะเป็นหรือไม่เป็นมะเร็งตับด้วยก็ได้ อย่างไรก็ตาม เพราะสาเหตุหลัก ๆ ของโรคมะเร็งตับเกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์เนื้อเยื่อตับ และการก่อเซลล์มะเร็งมักอยู่ในวงจรเดียวกับโรคตับเรื้อรัง ตับอักเสบเรื้อรัง การเกิดแผลและฟื้นฟูแผลในตับ
5 อาการโรคตับที่สังเกตได้
โรคตับมักไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการอย่างคลุมเครือในระยะแรก ๆ การสังเกตอาการโรคตับด้วยตัวเองอาจจะยังไม่สามารถเจาะจงว่ามีสาเหตุมาจากตับได้ เช่น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ อาจส่งผลให้มีไข้ คลื่นไส้ หรือท้องเสีย ในเวลาสั้น ๆ แต่สำหรับ 5 อาการต่อไปนี้เป็นอาการบ่งบอกว่าร่างกายเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานตับมากขึ้นแล้ว
อ่อนเพลีย เหนื่อย รู้สึกไม่ค่อยสบาย
หากมีความผิดปกติที่ตับหรือเป็นโรคตับที่ส่งผลกระทบต่อการกรองสารพิษออกจากเลือด อาจส่งผลให้รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สบายตัว อย่างไรก็ตามอาการนี้เป็นอาการทั่วไปอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ
ภาวะผิวเหลืองตาเหลือง หรือ ดีซ่าน (Jaundice)
เป็นภาวะที่เกิดจากร่างกายมีสารบิลิรูบิน (bilirubin) มากกว่าปกติ ภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อตับมีปัญหาจนไม่สามารถขับสารบิลิรูบินได้อย่างปกติจะเกิดการสะสมต่างส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งสารนี้เป็นสารที่มีสีเหลือง-ส้ม ทำให้เกิดและเนื้อเยื่อตาขาวมีสีเหลืองจนสังเกตได้
ปัสสาวะสีเข้ม
เมื่อปัสสาวะมีสีน้ำตาลเข้มหรือสีส้มและผู้ป่วยอาจมีหรือไม่มีภาวะผิวเหลืองตาเหลืองด้วยก็ได้ อาการนี้เกิดจากสีของสารบิลิรูบิน (bilirubin) โดยปกติจะถูกขับออกจากร่างกายพร้อมกับน้ำดีที่ลำไส้ แต่หากตับทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ บิลิรูบินจะถูกขับออกมาพร้อมปัสสาวะทำให้ปัสสาวะมีสีเข้มกว่าปกติ
ท้องอืด รู้สึกว่ามีแก้สในกระเพาะบ่อย ๆ
โรคตับในระยะที่การทำงานของตับลดลงอาจส่งผลให้ร่างกายผลิตน้ำดีน้อยลง (ของเหลวที่ช่วยย่อยอาหาร) ซึ่งอาจทำให้ย่อยอาหารได้ไม่ดี มีอาการท้องอืด มีแก้สในกระเพาะอาหาร
คลื่นไส้อาเจียน
อาการคลื่นใส้อาเจียนเป็นอาการที่มีความรุนแรงทั้งมากและน้อย อาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวหรือเป็นติด ๆ กัน มีสาเหตุหลายสาเหตุเช่น ตับอักเสบ การสะสมของพิษในร่างกาย เป็นต้น อาการคลื่นไส้อาเจียนที่เป็นบ่อย ๆ อาจส่งผลต่อการรับประทานหรือดื่มน้ำน้อยลง ซึ่งอาจเสี่ยงภาวะขาดน้ำและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้
นอกจาก 5 อาการเหล่านี้แล้วยังอาจประสบอาการอื่น ๆ ตามประเภทของโรคตับที่เป็น บางอาการอาจดูคล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ หากลองสังเกตดูแล้วพบอาการผิดปกติที่หาสาเหตุไม่ได้ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
สาเหตุของโรคตับ
โรคตับมีการจำแนกออกเป็นหลายชนิด และมีสาเหตุมาจากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น
- การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ การติดเชื้ออาจส่งผลให้เกิดการอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรังได้ ซึ่งไวรัสตับอักเสบมีหลายชนิด แต่ที่พบบ่อยมักเป็นไวรัสตับอักเสบชนิด เอ บี และซี
- ตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากอาจทำให้เกิดโรคตับอักเสบเฉียบพลันหรือเรื้อรังได้ และหากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ อาจทำให้เกิดโรคตับแข็งและตับวายได้
- ตับอักเสบจากสารพิษ เช่น การได้รับสารเคมีมากเกินไป การใช้ยาเกินขนาด ใช้ยาผิดวัตถุประสงค์ หรือการใช้ยาเสพติด
- ไขมันพอกตับที่ไม่ได้มาจากแอลกอฮอล์ หลัก ๆ มาจากความผิดปกติของเมตาบอลิซึมที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน น้ำตาลในเลือดสูง และภาวะไขมันในเลือดสูง
- โรคแพ้ภูมิตัวเอง หมายถึงภูมิคุ้มกันตัวเองไปทำลายเซลล์ตับ ทำให้ตับเกิดการอักเสบและบวมขึ้น โรคภูมิแพ้ตัวเองอาจทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังและทำให้เกิดแผลเป็นในตับหรือท่อน้ำดี รวมถึงโรคตับอักเสบจากภูมิต้านตนเอง ท่อน้ำดีอักเสบปฐมภูมิ และท่อน้ำดีอักเสบแข็งตัวปฐมภูมิ
- โรคทางพันธุกรรม ความผิดปกติบางอย่างที่ได้รับการสืบทอดมาจากพ่อแม่อาจส่งผลให้กระทบต่อการทำงานได้เช่น โรควิลสัน (Wilson’s disease) ภาวะเหล็กเกิน (Hemochromatosis) เป็นต้น
สรุปเกี่ยวกับสาเหตุและอาการโรคตับ
อาการโรคตับในระยะแรก ๆ อาจจะสังเกตได้ไม่ง่ายนัก เราถึงต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติให้ดี หากพบความผิดปกติและรักษาเร็วจะช่วยป้องกันไม่ให้โรคตับพัฒนาไปสู่ระยะที่รุนแรงขึ้น ยิ่งสาเหตุหลายอย่างของโรคตับมาจากพฤติกรรมของเราเอง เราถึงต้องหมั่นดูแลตัวเองและเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงจะช่วยลดโอกาสเป็นโรคที่รุนแรงได้
หากมีข้อสงสัยสามารถทำนัด สอบถามข้อมูลหรือปรึกษากับทีมศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ ได้ที่ทุกช่องทางการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา
Reference,
Baylor Scott & White Health. (2022). 10 Early Signs and Symptoms of Liver Disease. Retrieved November 10, 2023, from https://www.bswhealth.com/blog/10-early-signs-and-symptoms-of-liver-disease
Cleveland Clinic. (2023). Liver Disease. Retrieved November 10, 2023, from https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17179-liver-disease
Mayo Clinic. (2023). Liver Problems: Symptoms & Causes. Retrieved November 10, 2023, from https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/liver-problems/symptoms-causes/syc-20374502