Skip to content

คำแนะนำสำหรับการดูแลรักษาบาดแผล

ชนิดของบาดแผล

  1. บาดแผลถลอก เกิดจากการครูดหรือไถลบนพื้นขรุขระ มีการสูญเสียเฉพาะผิวหนังชั้นนอกเท่านั้น
  2. บาดแผลฉีกขาดมีขอบแผลไม่เรียบ รุ่งริ่ง และฟกช้ำ
  3. บาดแผลจากวัตถุมีคม เช่น มีดบาด กระจกบาด ขอบแผลเรียบ
  4. บาดแผลพุพอง เช่น บาดแผลจากไฟไหม้น้ำร้อนลวก
  5. บาดแผลฉีกขาด และบาดแผลจากวัตถุมีคม อาจมีอวัยวะอื่นที่อยู่ลึกลงไปถูกตัดขาดได้ด้วย นอกจากร่องรอยที่ชั้นผิวหนัง

ทำอย่างไรเมื่อเกิดบาดแผล ?

  1. ควรล้างด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือปราศจากเชื้อเท่านั้น
  2. ในกรณีที่มีเลือดออกมากใช้ผ้าก๊อซสะอาดกดห้ามเลือด ไม่ควรใช้นิ้วมือกดโดยตรงเพราะอาจทำให้แผลติดเชื้อมากขึ้นจากนิ้วมือที่ปนเปื้อนของเรา และถ้ากดแผลให้ผู้อื่นก็ควรสวมถุงมือยางป้องกันการสัมผัสเลือดเสมอเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเลือดเช่น โรคเอดส์ โรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น
  3. บาดแผลฉีกขาด หรือโดนวัตถุมีคมบาด ที่เป็นแผลลึกควรได้รับการเย็บแผล เพื่อให้แผลหายเร็วขึ้น ควรรีบมาโรงพยาบาลเพื่อเย็บแผลภายใน 4 ชั่วโมง หากปล่อยแผลทิ้งไว้จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น การเย็บแผลเป็นการช่วยห้ามเลือด และเพื่อความสวยงาม แพทย์อาจพิจารณาไม่เย็บแผล ในกรณีที่เป็นบาดแผลจากสุนัข หรือแมวกัด หรือบาดแผลที่สกปรกมาก เพราะอาจเกิดการติดเชื้อตามมาได้ รับประทานยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด หรือรับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก ขึ้นกับชนิดของแผลตามคำแนะนำของแพทย์
    • บาดแผลพุพองจากความร้อน ให้แช่น้ำสะอาด หรือประคบด้วยความเย็น ห้ามใช้น้ำปลา ยาสีฟัน หรือครีมต่าง ๆ ทาแผล ให้รีบมาพบแพทย์
  4. สิ่งแปลกปลอมในแผลที่อยู่ลึกและอาจแทงโดนอวัยวะสำคัญไม่ควรดึงออกเอง เช่น ไม้เสียบลูกชิ้นทิ่ม เบ็ดตกปลาเกี่ยวนิ้ว หรือโดนแทงด้วยมีดแล้วมีดยังคาอยู่ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อให้แพทย์นำสิ่งแปลกปลอมออกให้

การดูแลรักษาบาดแผล

  1. ควรทำความสะอาดรอบบาดแผลด้วยการล้างน้ำเกลือปราศจากเชื้อก่อน หากไม่ทราบวิธี อุปกรณ์ไม่สะอาด หรือน้ำยาไม่ถูกชนิด อาจทำให้แผลอักเสบมากขึ้น ติดเชื้อและแผลหายช้า ให้รีบมาล้างแผลที่โรงพยาบาล
  2. พยายามให้แผลแห้ง และสะอาดอยู่เสมอ ระวังอย่าให้เปียกน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก หากบาดแผลเปียกน้ำ มีเลือด หรือน้ำเหลืองซึมออกมาจนผ้าก๊อซที่ปิดแผลชุ่มควรกลับมาทำความสะอาดแผลแล้วปิดผ้าก๊อซผืนใหม่
  3. บาดแผลพุพองที่เป็นตุ่มน้ำใส ไม่ควรเจาะตุ่มน้ำให้แตก หรือลอกผิดที่คลุมตุ่มน้ำนั้นทิ้ง
  4. หากมีไข้ ปวดบาดแผล มีอาการบวมแดงรอบแผล ควรกลับมาพบแพทย์เพื่อตรวจซ้ำ
  5. ผู้ที่ได้รับการเย็บแผล ควรกลับมาตรวจซ้ำตามนัด ซึ่งปัจจุบันนี้การล้างแผลทุกวัน อาจไม่จำเป็น ขึ้นกับชนิดของบาดแผล และวิธีการทำแผล มาถอดไหมที่เย็บแผล ตามแพทย์นัด ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 7 วัน อาจน้อยกว่านี้สำหรับแผลเย็บบริเวณใบหน้า หรือนานกว่านี้สำหรับแผลเย็บบริเวณแขน ขา บาดแผลที่มีผลต่อความงาม เช่น บริเวณใบหน้าท่านสามารถรักษากับแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมตกแต่งได้

ที่มา : ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ

ดูแลแผล

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง