Skip to content

ความเชื่อผิดๆถูกๆ เกี่ยวกับอาหารที่ทำให้เป็นมะเร็งเต้านม

กินเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูป ทำให้เป็นมะเร็งเต้านมจริงหรือ ?

ตอบ “จริงครับ” องค์การอนามัยโลก และ องค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติจัดให้เนื้อสัตว์แปรรูปเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 คือ สามารถก่อมะเร็งในมนุษย์ ส่วนเนื้อแดงเป็นกลุ่ม 2A คืออาจจะก่อมะเร็งในมนุษย์ การกินเนื้อแดงของสัตว์ต่าง ๆ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะ และ เนื้อสัตว์แปรรูป คือ เนื้อที่ผ่านการเพิ่มรสชาติหรือถนอมอาหารด้วยการหมัก คลุกเกลือ บ่ม รมควัน เช่น ไส้กรอก แฮม กุนเชียง แหนม หมูยอ สามารถเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งได้ครับ โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ รวมถึงมะเร็งเต้านมครับ แต่ก็ต้องกินในปริมาณที่เยอะและกินเป็นประจำจนเรียกว่าเป็น “สายเนื้อ สายชาบู สายหมูกระทะ” นั่นแหละครับถึงจะเสี่ยง   

กินเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูป ที่ว่าเสี่ยงมะเร็ง…เสี่ยงมากขึ้นเท่าไหร่ ?

ตอบ ผู้หญิงที่กินเนื้อสัตว์แปรรูป เนื้อแดง ในปริมาณมากพบว่าเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้นเมื่อเทียบกับคนทั่วไปที่กินปกติหรือกินน้อย ประมาณ 9 % ครับ ปริมาณที่กินได้อย่างปลอดภัย คือเท่าไหร่ ? ตอบ ลดการบริโภคเนื้อแดงลงให้ไม่เกิน 70 กรัมต่อวัน หรือ 500 กรัมต่อสัปดาห์ จะลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม และ มะเร็งลำไส้ ได้ครับ ซึ่งรูปแบบการรับประทานอาหารของคนไทยเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตกซึ่งจะนําเนื้อมาปรุงในรูปแบบเนื้อสเต็กที่บางทีชิ้นก็ใหญ่และหนักถึง 300-500 กรัมต่อมื้อ ถือว่าเกินปริมาณที่แนะนำต่อวันต่อสัปดาห์ไปไกล ในขณะที่กับข้าวของไทย เช่น ผัดกะเพรา ต้ม ผัด แกง ทอด ต่าง ๆ มีเนื้อเป็นส่วนประกอบไม่มากเท่าฝรั่งจึงไม่ก่อให้เกิดปัญหานักเพราะปริมาณของเนื้อแดงนั้นไม่ได้มากเกินไป การหลีกเลี่ยงหรืองดเนื้อสัตว์โดยเด็ดขาดจึงเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องและอาจทําให้ได้รับสารอาหารโดยเฉพาะโปรตีนไม่ครบถ้วนครับ สรุปคือ “กินเนื้อได้ แต่กินแต่พอดี”ครับผม

กินน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง ทำให้เป็นมะเร็งเต้านม?

ตอบ “ไม่จริงครับ” กินได้ครับ ขอแค่ไม่กินทุกมื้อ ไม่กินประจำทุกวัน หรือกินปริมาณมากจนเกินไป เพราะการรับประทานถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองปริมาณมาก ๆ นั้นอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมได้จากในถั่วเหลืองมีสารออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน แต่สําหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ควรหลีกเลี่ยงอาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากถั่วเหลืองที่มีความเข้มข้นสูงที่ใช้ทดแทนฮอร์โมนเพราะอาจกระตุ้นทำให้มะเร็งเต้านมโดยเฉพาะชนิดที่เซลส์มะเร็งตอบสนองดีต่อฮอร์โมน (Estrogen Receptor [ER] positive) อาจจะรักษาหายได้ยากและเพิ่มโอกาสมะเร็งกลับมาเป็นซ้ำได้ครับ  

New call-to-action

ส่วนอาหารชนิดอื่นที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงหรือสารออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง จะมีอะไรบ้าง และถ้ากินไปจะเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้นไหม

ก่อนจะมาตอบคำถาม ควรทราบก่อนว่า อาหารที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือสารออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น ไฟโตเอสโตรเจน ไอโซฟลาโวน เรสเวอราทรอล มีอะไรบ้าง? หมอเน็ตขอยกตัวอย่างเช่น น้ำมะพร้าว ลูกพรุน แครอท ข้าวสาลีและธัญพืช ถั่ว เต้าหู้ งา องุ่นและผลไม้ตระกูลเบอร์รี่  เป็นต้นครับ ลำดับถัดไปถ้ากินอาหารเหล่านี้จะเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้นไหม? ขอตอบว่า “ไม่ครับ” กินอาหารพวกนี้ได้ครับ โดยเฉพาะคนที่กำลังเข้าสู่วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือนและไม่อยากกินยาฮอร์โมนหรือฮอร์โมนสังเคราะห์ การกินอาหารที่มีเอสโตรเจนหรือสารออกฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจนสามารถบรรเทาอาการขาดฮอร์โมนในหญิงวัยทองได้ครับและการกินในปริมาณที่พอดี ไม่มากเกินไป นอกจากจะช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายแล้ว ยังลดโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและโรคกระดูกพรุนได้อีกด้วย แต่ถ้ากินมากเกินไปจะส่งผลเสี่ยงให้เกิดมะเร็งเต้านมสูงขึ้นไหมนั้น ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรืองานวิจัยทางการแพทย์ใดพิสูจน์ได้ชัดเจน ดังนั้น “กินดี คือ เลือกกินแต่ของดีมีประโยชน์ และกินแต่พอดี” ก็ยังเป็นหลักการกินที่ทุกคนควรคิดก่อนเอาอะไรเข้าร่างกายผ่านทางปากเรากันนะครับ

ดื่มกาแฟเสี่ยงเป็นมะเร็ง จริงหรือ? เคยได้ยินไหมว่าการดื่มกาแฟเยอะ ๆ นี่ อาจเสี่ยงทำให้เกิดมะเร็งได้ และถ้าเสี่ยง ต้องกินปริมาณมากเท่าไหร่ถึงจะนับว่าเสี่ยง

ตอบ กาแฟเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในหมู่คนทำงาน เพราะมีสารคาเฟอีนที่ทำให้รู้สึกสดชื่นตื่นตัวตลอดทั้งวัน แต่ก็มีสารที่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งถ้ารับในปริมาณสูงที่ชื่อ อะคริลาไมด์ (Acrylamide) อยู่ในกาแฟเช่นกันรวมถึงอาหารและผลิตภัณฑ์ปรุงแต่งที่ผ่านความร้อนสูงเกิน 120 องศาเซลเซียส จำพวกธัญพืช มันฝรั่ง แป้ง ไม่ว่าจะอบ ทอด ปิ้ง ย่าง เป็นเวลานาน ๆ เช่นปาท่องโก๋ กล้วยทอด เฟรนด์ฟรายด์ โดยปริมาณของสารอะคริลาไมด์ที่ร่างกายรับได้ไม่ควรเกิน 2.6 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากเกินกว่านั้นจะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้ สารก่อมะเร็งชนิดนี้มีอยู่ในกาแฟ 1 แก้ว (160 ซีซี) ประมาณ 0.15-1 ไมโครกรัม แสดงว่าถ้าคุณผู้หญิงคนหนึ่งน้ำหนัก 50 กิโลกรัมจะมีความเสี่ยงจากการดื่มกาแฟได้นั้น ต้องได้รับสารนี้เกิน 50 x 2.6 = 130 ไมโครกรัม แปลว่าต้องดื่มกาแฟมากกว่า 130 แก้วจึงจะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ดังนั้นสรุปได้ว่าถ้าดื่มกาแฟในปริมาณปกติไม่ได้ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งแต่อย่างใดครับ 

บทความโดย: นพ. ฐาปนัสม์ ลิขิตมาศกุล
 
 
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์มะเร็งเต้านม
 
ศูนย์เต้านม  โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง