Skip to content

การเจาะชิ้นเนื้อผิดปกติในเต้านม

การเจาะชิ้นเนื้อผิดปกติในเต้านม

การเจาะชิ้นเนื้อผิดปกติในเต้านม (เช่น ก้อน หินปูน เนื้อเต้านมผิดรูปหรือหนาตัวผิดปกติ) ของศูนย์เต้านม รพ.กรุงเทพพัทยา ในปัจจุบันสามารถทำได้โดยการใช้เข็มตัดชิ้นเนื้อขนาดใหญ่ (core needle) โดยมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี ได้แก่

  1. การเจาะชิ้นเนื้อโดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์เป็นตัวช่วยระบุตำแหน่งความผิดปกติ (Ultrasound guided core needle biopsy) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเต้านม เช่น ก้อน ซีสต์ถุงน้ำ ที่เห็นได้ชัดเจนจากการตรวจอัลตราซาวด์เต้านม
  2. การเจาะชิ้นเนื้อโดยใช้เครื่องแมมโมแกรม 3 มิติเป็นตัวช่วยระบุตำแหน่งความผิดปกติ (Stereotactic guided core needle biopsy) สำหรับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเต้านม เช่น หินปูนขนาดเล็ก เนื้อเต้านมผิดรูปหรือหนาตัวผิดปกติ ที่เห็นจากการตรวจแมมโมแกรมเท่านั้น ไม่สามารถพบได้ในการตรวจอัลตราซาวด์

โดยทั้ง 2 วิธีนี้มีข้อจำกัดคือ เป็นการเจาะชิ้นเนื้อโดยการใช้เข็มตัดชิ้นเนื้อขนาดใหญ่ (core needle) ที่ไม่ว่าจะใช้เครื่องอัลตราซาวด์หรือเครื่องแมมโมแกรม 3 มิติเป็นตัวช่วยระบุตำแหน่งความผิดปกตินั้น ทำได้เพียงวินิจฉัยโรค (tissue diagnosis) เท่านั้น คือสามารถตัดชิ้นเนื้อออกมาได้เพียงบางส่วน ไม่ใช่ทั้งหมดของความผิดปกติดังกล่าว ซึ่งถ้าผลชิ้นเนื้อออกมาพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม หรือ เป็นโรคที่สามารถพัฒนาเป็นมะเร็งได้ในอนาคต ก็ต้องทำการผ่าตัดรักษาเป็นขั้นตอนถัดไป ส่วนในกรณีผลชิ้นเนื้อออกมาไม่เป็นมะเร็ง ซึ่งตามจริงแล้วแค่ตรวจติดตาม ไม่ต้องทำการผ่าตัดรักษา แต่ถ้าผู้ป่วยมีความกังวลไม่สบายใจหรือไม่อยากมีความผิดปกตินี้ในเต้านมอีกต่อไป แพทย์ก็สามารถผ่าตัดออกให้ตามที่ผู้ป่วยต้องการได้

แต่ล่าสุด.. ทางศูนย์เต้านม รพ.กรุงเทพพัทยา ได้มีเครื่องมืออุปกรณ์ในการเจาะชิ้นเนื้อความผิดปกติในเต้านมแบบใหม่ ได้แก่ เข็มเจาะดูดชิ้นเนื้อระบบสุญญากาศ (vacuum needle)

ซึ่งจะมาช่วยแก้ปัญหาสำหรับผู้ป่วยในกลุ่มนี้ คือ กลุ่มที่ผลชิ้นเนื้อออกมาไม่เป็นมะเร็ง หรือ ความผิดปกติที่สงสัยมะเร็งเต้านมต่ำ โดยเข็มเจาะดูดชิ้นเนื้อระบบสุญญากาศซึ่งจะประกอบไปด้วยตัวเข็มเจาะดูดชิ้นเนื้อและเครื่องระบบสุญญากาศสามารถตัดชิ้นเนื้อตรงที่มีความผิดปกติออกมาได้ทั้งหมด ไม่ว่าความผิดปกตินั้นจะเป็นก้อน ซีสต์ถุงน้ำ หินปูน กลุ่มหินปูน เนื้อเต้านมผิดรูปหรือหนาตัวผิดปกติ และถ้าผลชิ้นเนื้อออกมาไม่เป็นมะเร็งเต้านม ก็ถือว่าได้ทั้งการวินิจฉัยและรักษาโรคไปในการเจาะชิ้นเนื้อคราวเดียวกัน

แต่ถ้าผลชิ้นเนื้อออกมาพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม หรือ เป็นโรคที่สามารถพัฒนาเป็นมะเร็งได้ในอนาคต ก็ต้องทำการผ่าตัดรักษาตามขั้นตอนต่อไป

กลุ่มผู้ป่วยที่เหมาะสมกับการใช้เข็มเจาะดูดชิ้นเนื้อระบบสุญญากาศนี้ควรมีความผิดปกติในเต้านมที่มีลักษณะดังนี้

  1. ขนาดตั้งแต่ 0 ถึง 2 เซนติเมตร (ไม่ควรเกิน 3 เซนติเมตร)
  2. อยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของเต้านม ไม่กระจายไปทั่วทั้งเต้านม
  3. สงสัยมะเร็งเต้านมน้อย

โดยผู้ป่วยที่มีปัญหาเลือดแข็งตัวผิดปกติหรือโรคเลือดควรผ่านการพิจารณาโดยละเอียดของแพทย์ก่อนทำหัตถการ

 

สรุปข้อดีของเข็มเจาะดูดชิ้นเนื้อเต้านมด้วยระบบสุญญากาศ (Vacuum Breast Biopsy) ได้แก่

  1. วินิจฉัยและรักษาโรคได้ในครั้งเดียวกัน
  2. ไม่มีแผลเป็นขนาดใหญ่เหมือนการผ่าตัด (ขนาดแผลไม่เกิน 5 เซนติเมตร)
  3. ไม่ต้องดมยาสลบ ไม่ต้องนอนพักที่โรงพยาบาล

บทความสุขภาพโดย

นพ.ฐาปนัสม์ ลิขิตมาศกุล
ศัลยแพทย์เต้านม ศูนย์เต้านม รพ.กรุงเทพพัทยา

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง