1. ความผิดปกติใดในเต้านมที่เราสามารถเห็นได้จากการทำแมมโมแกรม ตอบ เห็นได้ตั้งแต่ ก้อน หินปูน กลุ่มหินปูน เต้านมผิดรูป เนื้อนมไม่เท่ากัน ผิวหนังหนาขึ้น หัวนมบุ๋มและต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้โต ครับ
2. ต้องตรวจแมมโมแกรมเมื่อใด? ตอบ เมื่อเป็นผู้หญิง และ มีอายุ 35-40 ปีขึ้นไปครับ
3. ทำไมต้องตรวจแมมโมแกรม? ตอบ เพราะเป็นการตรวจที่มีประสิทธิภาพสูง ทำได้เร็ว ปลอดภัย ปริมาณรังสีต่ำ ช่วยให้ตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งส่งผลให้ผลการรักษาดีและเพิ่มโอกาสหายขาดจากมะเร็งครับ
4. แมมโมแกรมต่างจากอัลตราซาวด์เต้านมอย่างไร? ตอบ แมมโมแกรมสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมขนาดเล็กมาก ตั้งแต่ระยะแรก ๆ ที่มะเร็งยังไม่พัฒนาเป็นก้อนเลย คือเห็นเป็นหินปูนหรือเนื้อเต้านมผิดรูป ซึ่งอัลตราซาวด์ไม่สามารถตรวจพบได้ ส่วนอัลตราซาวด์จะตรวจพวกก้อนในเต้านมได้ดีกว่า บอกขนาดได้แม่นยำ และแยกได้ชัดว่าก้อนนั้นเป็นก้อนเนื้องอกหรือก้อนน้ำ(ถุงน้ำซีสต์)ครับ
5. ควรทำทั้งแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง? ตอบ ถ้าอายุมากกว่า 40 ปี ควรทำทั้งคู่ จะให้ผลตรวจดีที่สุดครับ แต่ถ้าอายุน้อยตรวจอัลตราซาวด์เต้านมอย่างเดียวก็พอครับ
6. ทำไมคนอายุน้อยไม่ควรทำแมมโมแกรม? ตอบ คนอายุน้อย เนื้อเต้านมจะหนาแน่นมาก แมมโมแกรมจะเห็นรายละเอียดน้อยและแปลผลได้ยากครับ
7. แล้วคนอายุน้อยแต่ควรตรวจแมมโมแกรมคือ? ตอบ คนที่มีความเสี่ยงมะเร็งเต้านมสูง ได้แก่ คนที่มีประวัติตรวจยีน BRCA ผิดปกติหรือมีญาติสายตรงที่ยีนผิดปกติ มีประวัติฉายแสงตรงหน้าอกตอนอายุ 10-30 ปี ควรเริ่มตรวจแมมโมแกรมปีละครั้งตั้งแต่อายุ 25 ปีครับ
8. ทำแมมโมแกรมอย่างไรให้ “ไม่เจ็บ” หรือ “เจ็บน้อย”? ตอบ ควรตรวจหลังมีเมนส์ 1-2 สัปดาห์ ตอนที่นมไม่คัด ส่วนตอนทำก็ควรผ่อนคลาย ไม่เกร็ง และบอกนักรังสีเทคนิคว่า “ช่วยกรุณาได้โปรด บีบเบาๆหน่อยนะคะ”
9. การบีบและกดเต้านมในการตรวจแมมโมแกรมสามารถกระตุ้นให้เกิดมะเร็งเต้านมได้จริงหรือ และ ทำไปทำไม ตอบ ไม่จริงครับ การบีบกกนั้นอาจทำให้เจ็บได้ แต่ไม่ถึงขนาดอักเสบ จนรุนแรงเรื้อรังถึงขนาดกระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้ครับ และที่การตรวจแมมโมแกรมจำเป็นต้องบีบและกดเต้านมเข้าเครื่องก็เพื่อให้เนื้อเยื่อของเต้านมแผ่กระจายตอนถ่ายภาพจะได้เห็นสิ่งผิดปกติได้อย่างชัดเจนขึ้นครับ
10. รังสีจากแมมโมแกรมทำให้เป็นมะเร็งจริงไหม? ตอบ ไม่จริงครับ ปริมาณรังสีต่ำมาก สามารถทำได้อย่างปลอดภัยปีละ 1-2 ครั้งครับ
11. แนวทางการตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรมที่ทั่วโลกยอมรับ อัพเดต ณ ปัจจุบันล่าสุดคือ? ตอบ ตรวจร่างกายบริเวณเต้านมโดยแพทย์ปีละ 1 ครั้งตั้งแต่อายุ 25-39 ปีและเริ่มตรวจแมมโมแกรมปีละ 1 ครั้งตอนอายุ 40 ปี โดยแมมโมแกรมที่ตรวจควรเป็นแมมโมแกรม 3 มิติ (tomosynthesis) ครับ
12. ผู้หญิงตั้งครรภ์สามารถตรวจแมมโมแกรมได้หรือไม่ ตอบ ก่อนอื่นหมอขอบอกว่า ผู้หญิงทุกคนไม่ว่าจะตั้งท้องหรือไม่ ควรตรวจคลำเต้านมตนเองเป็นประจำทุกเดือนครับ และถ้าคลำแล้วสงสัยว่ามีสิ่งผิดปกติเช่น ก้อน หรือ เต้านมผิดรูป ก็ควรรีบมาตรวจที่โรงพยาบาลครับ แต่ถ้าไม่มีอาการผิดปกติและอายุของคุณแม่มากกว่า 35-40 ปี ก็ควรมาตรวจเต้านมที่โรงพยาบาลตามปกติครับ แต่ระหว่างตั้งครรภ์จะไม่สามารถเอ็กซเรย์รวมถึงแมมโมแกรมได้ครับ ดังนั้นถ้าประจำเดือนขาดไปหลายเดือนควรแจ้งแพทย์ก่อนทุกครั้งครับ ในผู้หญิงที่ท้องอยู่จะตรวจเต้านมด้วยอัลตราซาวด์เต้านมซึ่งปลอดภัยเพราะเป็นการตรวจที่ไม่มีรังสีอันตรายต่อทารกในครรภ์ครับ
13. ผู้หญิงที่ให้นมบุตรอยู่สามารถตรวจแมมโมแกรมได้หรือไม่ ตอบ ตรวจได้ทั้งแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์เต้านมครับ แต่ถ้ากำลังให้นมอยู่ ผลที่ได้อาจจะคลาดเคลื่อนเพราะน้ำนมในเต้านมบดบังและทำให้เห็นสิ่งผิดปกติไม่ชัดเจนได้ครับ ดังนั้นหมอมักแนะนำให้มาตรวจเมื่อหยุดให้นมบุตรแล้วสัก 2-3 เดือนหรือตรวจเมื่อมีอาการผิดปกติจริง ๆ เช่น คลำพบก้อน เต้านมบวมแดงอักเสบเป็นก้อน เต้านมผิดรูปชัดเจน มีเลือดไหลจากหัวนม เป็นต้นครับ
14. เสริมอึ๋มมาจะตรวจแมมโมแกรมได้หรือไม่ และแมมโมแกรมสามารถทำให้ซิลิโคนเสริมหน้าอกแตกหรือรั่วได้หรือไม่? ตอบ ตรวจได้ครับ แค่ควรแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ก่อนการตรวจ เพราะต้องดึงเนื้อนมแยกออกจากซิลิโคนก่อนเข้าเครื่องตรวจ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเจ็บมากกว่าคนทั่วไปเท่านั้นครับ และซิลิโคนเสริมหน้าอกที่ได้มาตรฐานจะมีความแข็งแรงและยืดหยุ่นมาก การตรวจแมมโมแกรมที่ต้องกดเนื้อนมให้แนบเข้าไปในเครื่องไม่สามารถทำให้แตกหรือรั่วได้ครับ
15. แมมโมแกรมสามารถตรวจว่าซิลิโคนเสริมหน้าอกแตกรั่วได้หรือไม่ ตอบ ถ้าซิลิโคนแตกรั่วชัดเจนจนรูปทรงผิดรูปจะสามารถมองเห็นจากการตรวจแมมโมแกรมได้ครับ แต่ถ้าแตกรั่วเล็กน้อยและยังคงรูปทรงได้อยู่ มักมองไม่เห็นครับ ควรตรวจ MRI เต้านมซึ่งจะบอกได้ชัดกว่าว่ามีการแตก รั่ว ซึมของซิลิโคนเสริมหน้าอกหรือไม่ครับ
16. ถ้าเคยฉีดฟิลเลอร์หรือสารแปลกปลอมเพื่อเพิ่มขนาดเต้านมมาก่อน ตรวจแมมโมแกรมได้ไหม ตอบ ตรวจได้ครับ แต่ผลการตรวจอาจแปลผลยาก เพราะสารที่ฉีดเข้าไปมักเป็นสารทึบแสงซึ่งจะบดบังสิ่งผิดปกติในเต้านมได้ครับ ทำให้มองไม่เห็นสิ่งเหล่านั้นได้ จึงควรตรวจ MRI เต้านมซึ่งจะให้ผลการตรวจที่ละเอียดแม่นยำกว่าครับ
17. แมมโมแกรมแบบไหนดีที่สุดในปัจจุบัน ตอบ แบบ 3 มิติอย่างที่รพ.กรุงเทพพัทยามีที่เดียวในละแวกนี้ครับ ดีกว่าแมมโมแกรมดิจิตอล 2 มิติและแบบฟิล์มธรรมดาครับ
18. แมมโมแกรม 3 มิติดีอย่างไร ตอบ คุณภาพของภาพที่ได้จากแมมโมแกรม 3 มิติดีกว่า ดิจิตอล 2 มิติ และ ดิจิตอล 2 มิติ ก็ดีกว่า แบบฟิล์มธรรมดา (รุ่นเก่าสุด) ครับ ตอบให้ละเอียดก็ 3 มิติ ดีกว่าตรงที่… – ได้ภาพที่ละเอียดคมชัดสูงกว่า เห็นความผิดปกติขนาดเล็กได้ชัดเจนมากขึ้น (จากที่อาจมองไม่ชัดในแบบเดิม ตามรูปประกอบ) ตรวจพบมะเร็งที่ขนาดเล็กได้เร็ว รักษาได้ไว ก็มีโอกาสหายขาดมากขึ้นตามไปด้วยครับ – เจ็บน้อยกว่าหรือไม่เจ็บเลยจากแผ่นกดเต้านมที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นเพื่อลดแรงกดทับบีบอัดเต้านม – ทำได้เร็ว ถ่ายภาพรอบเดียว ไม่ต้องถ่ายซ้ำ จึงรับปริมาณรังสีที่น้อยกว่า และไม่มากเกินความจำเป็น – ภาพที่ได้ส่งต่อให้รังสีแพทย์และศัลยแพทย์เฉพาะทางโรคเต้านมวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็วครับ
19. ผลตรวจแมมโมแกรมเป็นปกติดี แบบนี้ก็ไม่ต้องตรวจเต้านมไปได้อีกนานหลายปีเลยน่ะสิ ตอบ ไม่ถูกต้องครับ ความผิดปกติและก้อนในเต้านมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จึงควรหมั่นคลำเต้านมตนเองทุกเดือน และ มาตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์เต้านมเป็นประจำทุกปี แม้ไม่มีอาการ ถ้าคุณสุภาพสตรีอายุมากกว่า 35-40 ปีขึ้นไปครับ
20. ผู้ชายตรวจแมมโมแกรมได้ไหม ตอบ ตรวจได้ครับ จะพิจารณาส่งตรวจในผู้ชายที่มีอาการผิดปกติในเต้านมเช่น มีก้อน เต้านมโตขึ้น เป็นต้นครับ