จอประสาทตาเป็นรู หรือ จอประสาทตาฉีกขาด คืออะไร
ในลูกตามีของเหลวใสคล้ายไข่ขาวที่เรียกว่าวุ้นตาซึ่งจะติดแน่นกับจอตา เมื่ออายุมากขึ้นวุ้นตาเริ่มเหลวหดตัวและลอกตัวออกจากจอตา ส่งผลให้เกิดแรงดึงรั้งที่จอตาและอาจทำให้เนื้อเยื่อจอประสาทตาฉีกขาด หากน้ำที่อยู่ภายในวุ้นตาไหลผ่านรูฉีกขาดเข้าไปจะทำให้จอตาหลุดลอกออกมาซึ่งจะส่งผลให้เซลล์รับภาพค่อย ๆ เสื่อมตายไปและอาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร
อาการเมื่อจอประสาทตาฉีกขาด
สำหรับผู้ที่มีอาการในเบื้องต้นต่อไปนี้ ควรพบจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจจอประสาทตา อย่างเร่งด่วน
- รู้สึกว่ามีเงาดำ หรือ floater ใหม่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด
- รู้สึกมีแสงสว่าง (flashing) คล้ายฟ้าแลบ หรือไฟแฟลชกล้องถ่ายรูปเกิดขึ้นในลูกตา
- รู้สึกว่ามีลานสายตาผิดปรกติหรือแคบลง อาจเกิดจากมีจอประสาทตาฉีกขาดและหลุดลอก เพราะเวลาเกิดจอประสาทตาฉีกขาดจากการดึงรั้งของน้ำวุ้นตาจะเกิดที่บริเวณขอบจอประสาทตาก่อนเสมอ ทำให้ขอบภาพหายไป หรือมีลานสายตาแคบลง
หากมีอาการดังที่กล่าวมาแล้วควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตาอย่างละเอียด
การรักษาจอประสาทตาฉีกขาด
จอประสาทตาเป็นรู หรือ จอประสาทตาฉีกขาด สามารถรักษาได้โดยการยิงแสงเลเซอร์ล้อมรอบรูฉีกขาดเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลผ่านรูฉีกขาดจนเกิดเป็นจอตาลอก ในรายที่มีจอตาลอกแล้วควรรักษาโดยการผ่าตัด การผ่าตัดมีหลายวิธี เช่น
- การฉีดฟองก๊าซเพื่อปิดรูฉีกขาดที่จอประสาทตา
- การผ่าตัดวุ้นตา
- การเย็บหนุนซิลิโคนด้านนอกลูกตา เป็นต้น
ภายหลังการผ่าตัดแพทย์มักฉีดก๊าซเพื่อดันจอตาให้ติดเข้าที่ ผู้ป่วยจำเป็นต้องคว่ำหน้าเป็นเวลาอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ ก๊าซจะถูกดูดซึมจนหมดจากตาไปเอง ในรายที่ไม่สามารถคว่ำหน้าได้สามารถเลือกใช้น้ำมันซิลิโคนแทนการใช้ก๊าซแต่จำเป็นต้องมีการผ่าตัดเพื่อนำเอาน้ำมันซิลิโคนออกในภายหลังเมื่อจอตาติดดีแล้ว การมองเห็นภายหลังการผ่าตัดจะดีขึ้นเพียงใดนั้นขึ้นกับระยะเวลาที่จอประสาทตาลอก หากจอตาลอกมานานถึงแม้การผ่าตัดสามารถทำให้จอตาราบลงได้ แต่ระดับสายตาอาจไม่ดีขึ้นนัก ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าจะเป็นโรคจอตาลอกควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจตาโดยเร็ว