ในประเทศไทยมะเร็งปากมดลูกเป็นปัญหาสุขภาพผู้หญิง ซึ่งโรคนี้มีสาเหตุหลัก ๆ มาจากการติดเชื้อ HPV เชื้อไวรัสชนิดนี้ยังจัดอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) ที่สามารถติดได้ทั้งชายหญิงสามารถก่อให้เกิดโรคหูดได้กับทั้งสองเพศ การรู้ทันเชื้อไวรัสจึงช่วยเตรียมพร้อมเพื่อการมีชีวิตคู่ที่ดีและรักษาสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคร้าย
เชื้อ HPV ไม่ได้มีสายพันธุ์เดียว
Human Papilloma Virus หรือ HPV เป็นชื่อกลุ่มไวรัสที่พบได้ทั่วไปกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีประมาณ 30 สายพันธุ์ ที่ส่งผลกระทบกับอวัยวะเพศ บริเวณปากช่องคลอด มดลูก ปากมดลูก องคชาตและถุงอัณฑะตลอดจนบริเวณใกล้เคียงอย่างทวารหนัก
ซึ่งเชื้อ HPV ชนิดก่อมะเร็ง มี 14 สายพันธุ์ ที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด โดยสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกถึงร้อยละ 70 รองลงมาคือ สายพันธุ์ 45 31 และ 33
เชื้อ HPV เป็นสาเหตุมะเร็งปากมดลูกและหูดหงอนไก่
โดยปกติการติดเชื้อ HPV บนส่วนอื่น ๆ ของร่างกายมักไม่ได้ทำให้เกิดโรคมะเร็งโดยตรง แต่หากได้รับเชื้อ HPV บางสายพันธุ์ที่อวัยวะเพศและอวัยวะบริเวณใกล้เคียงอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเซลล์บริเวณนั้นในอนาคต ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเซลล์นั้นอาจทำให้เกิดเซลล์มะเร็งที่ปากมดลูกและเกิดเซลล์มะเร็งกับอวัยวะใกล้เคียง เช่น มะเร็งทวารหนัก มะเร็งองคชาต มะเร็งช่องคลอด เป็นต้น
อย่างไรก็ตามเชื้อ HPV มีอยู่หลายสายพันธุ์ซึ่งนอกจากจะเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกแล้วยังเป็นสาเหตุของการเกิดหูดหงอนไก่ด้วย แน่นอนว่าหูดนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดยปกติแล้วเมื่อร่างกายได้รับเชื้อระบบภูมิคุ้มกันจะพยายามกำจัดไวรัสก่อนที่จะเกิดเป็นหูดหงอนไก่ แต่หากเกิดหูดขึ้นจะมีลักษณะดังนี้
- หูดหงอนไก่ หรือหูดที่อวัยวะเพศ (Genital warts) มีลักษณะเป็น ตุ่มหรือติ่งเนื้อยื่นออกมา ตรงปลายแตกออกคล้ายดอกกะหล่ำหรือหงอนไก่ซึ่งเป็นที่มาของชื่อหูดหงอนไก่ โดยปกติไม่ทำให้รู้สึกเจ็บแต่อาจทำให้รู้สึกคันและไวต่อสัมผัส
ในเพศหญิงส่วนใหญ่เกิดบริเวณปากช่องคลอด บริเวณใกล้ทวารหนัก บริเวณปากมดลูกและภายในช่องคลอด
สำหรับเพศชายมักพบหูดหงอนไก่บริเวณอวัยวะเพศ และรอบ ๆ ทวารหนัก
เชื้อ HPV แพร่จากคนสู่คนผ่านการสัมผัส
เชื้อ HPV สามารถส่งต่อจากคนหนึ่งสู่อีกคนได้ผ่านการสัมผัสผิวหนัง (skin-to-skin contract) แต่สำหรับการติดเชื้อ HPV ที่อวัยวะเพศมักแพร่จากคนสู่คนผ่านการสัมผัสขณะมีเพศสัมพันธ์ การร่วมเพศทางปาก (Oral sex) และการร่วมเพศทางทวารหนัก ซึ่งการสัมผัสอวัยวะของคู่นอนที่ติดเชื้อจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อชนิดนี้มากขึ้น โดยอวัยวะเพศและบริเวณใกล้เคียงที่สามารถติดเชื้อ HPV ได้รวมถึง ปากช่องคลอด ช่องคลอด ปากมดลูก องคชาต ถุงอัณฑะและทวารหนัก
ป้องกันมะเร็งปากมดลูกด้วยวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV Vaccine)
มะเร็งปากมดลูกที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ HPV สามารถป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ซึ่งวัคซีนผลิตจากชิ้นส่วนโปรตีนของไวรัส ไม่ทำให้ป่วยเป็นโรค แต่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคสูง ปัจจุบันวัคซีน HPV แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
- วัคซีนป้องกัน HPV 2 สายพันธุ์ เป็นวันซีนสำหรับป้องกันเชื้อสายพันธุ์ที่ก่อมะเร็งปากมดลูก
- วัคซีนป้องกัน HPV 4 สายพันธุ์ (ครอบคลุมสายพันธุ์ 6, 11, 16 และ 18) เป็นวัคซีนสำหรับป้องกันเชื้อสายพันธุ์ที่ก่อมะเร็งปากมดลูกและสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก
- วัคซีนป้องกัน HPV 9 สายพันธุ์ ใช้สำหรับป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV 9 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58 ในผู้หญิงและผู้ชาย ที่มีอายุตั้งแต่ 9 ถึง 45 ปี เป็นวัคซีนที่ครอบคลุมไวรัสสายพันธุ์ที่ให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก หูดหงอนไก่ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และมะเร็งทวารหนัก
วัคซีน HPV สามารถป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพสามารถฉีดได้ทั้งชายและหญิง วัคซีนจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันที่ดีหากฉีดตั้งอายุน้อย ในเด็กสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี อย่างไรก็ตามการรับวัคซีนจะควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับประเมินเบื้องต้นก่อนรับวัคซีน
ผู้หญิงควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกร่วมกับการตรวจหาไวรัส HPV ทุก ๆ 3-5 ปี
มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่อันตราย ผู้หญิงจึงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกร่วมกับการตรวจหาไวรัส HPV ทุก ๆ 3-5 ปี อาจเริ่มตั้งแต่ช่วงอายุ 21 ปีขึ้นไปหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่หากเข้าข่ายก็ควรคัดกรองมะเร็งปากมดลูกร่วมกับการตรวจหาไวรัส HPV เช่น
- เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- คู่นอนมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่น
- เคยได้รับเชื้อหรือป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน
- เป็นผู้ที่มีเชื้อ HIV
- สูบบุหรี่หรือเคี้ยวใบยาสูบ
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกปัจจุบันนิยมใช้การตรวจร่วมกับการตรวจหาไวรัส HPV เป็นการตรวจหาความผิดปกติของเซลล์ในปากมดลูกที่เป็นหรือมีโอกาสเป็นมะเร็งและหาสาเหตุของโรค การตรวจจะใช้เครื่องมือเพื่อเก็บตัวอย่างเซลล์มาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ส่วนระยะในการรอผลตรวจอาจใช้เวลาวันหรือ 1-2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาล
หากมีข้อสงสัยสามารถทำนัด สอบถามข้อมูลหรือปรึกษากับทีมศูนย์สุขภาพสตรี ได้ที่ทุกช่องทางการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา