โรคมะเร็งเป็นโรคที่รุนแรง สามารถเกิดขึ้นได้แทบทุกส่วนบนร่างกาย ในผู้หญิงเรามีความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกมาเป็นพิเศษ โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส HPV (Human papillomavirus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เชื้อนี้ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์ปากมดลูก ทำให้เซลล์เติบโตผิดปกติและกลายเป็นมะเร็งในที่สุด
มะเร็งปากมดลูกเป็นปัญหาที่ผู้หญิงทุกคนเสี่ยง
โรคนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้หญิงไทย และเป็นโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันสองรองจากมะเร็งเต้านม ซึ่งมะเร็งปากมดลูกสามารถตรวจพบได้ตั้งอายุน้อยก่อน 30 ปี แต่ส่วนใหญ่มักจะตรวจโรคนี้พบในช่วงอายุ 35-50 ปี สาเหตุหลัก ๆ ของการเป็นโรคนี้มักเกิดจากเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) เป็นเวลานาน ซึ่งเป็นเชื้อที่แพร่จากคนสู่คนผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งนี้การเกิดเซลล์มะเร็งบริเวณปากมดลูกก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทางที่ดีผู้หญิงทุกคนควรป้องกันโรคนี้ด้วยการตรวจคดกรองมะเร็งปากมดลูกและฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ตั้งแต่เนิ่น ๆ
สัญญาณและอาการมะเร็งปากมดลูก
ในระยะแรก ๆ ของการติดเชื้อไวรัส HPV เซลล์อาจยังไม่ได้พัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งในทันที และผู้ติดเชื้อมักไม่ได้มีอาการที่ชัดเจน กว่าจะเกิดเซลล์มะเร็งที่ปากมดลูกนั้นค่อนข้างใช้เวลานาน ตั้งแต่ 10-20 ปี ซึ่งหลังจากติดเชื้อ เซลล์บริเวณเนื้อเยื่อปากมดลูกจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงแบบผิดปกติ ระหว่างนี้สามารถตรวจพบเซลล์ที่ผิดปกติได้จากตัวอย่างเซลล์ในกระบวนการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
สัญญาณโรคระยะที่มะเร็งลุกลามบริเวณใกล้ปากมดลูก
- ตกขาวมาก หรือมีเลือดปน อาจมีอาการมากและมีกลิ่นเหม็น
- มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติทั้งในช่วงประจำเดือน ขณะที่มีเพศสัมพันธ์ หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดแม้หมดระยะประจำเดือน (วัยทอง)
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ ช่วงประจำเดือนยาวนาน และมีอาการปวดรุนแรงผิดปกติ
อาการที่อาจพบในระยะที่มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะไกล้เคียง
- ปัสสาวะยาก ปวดขณะปัสสาวะ หรือมีเลือดปน
- ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด
- เหนื่อยล้าจากอาการน้ำหนักลดผิดปกติและไม่อยากอาหาร
- ปวดหลัง ขาบวมโต
- ปวดบริเวณกระดูกเชิงกราน
ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกบ้าง ?
ปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกนั้นรวมถึง คนที่เสี่ยงติดเชื้อ HPV และคนที่มีความเสี่ยงจากปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งคนที่มีความเสี่ยงต่อไปนี้ควรพบแพทย์เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
- คนที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อยกว่า 18 ปี
- คนที่มีการเปลี่ยนคู่นอนหลายคน หรือมีเพศสัมพันธ์กับคนที่เปลี่ยนคู่นอนหลายคน
- คนที่รับประทานยาคุมกำเนิดต่อเนื่อง โดยเฉพาะคนที่ใช้ยาคุมกำเนิดยาวนาน 5-10 ปี
- คนที่ตั้งครรภ์แและคลอดบุตรมากกว่า 3 ครั้ง
- คนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น ๆ เช่น โรคติดเชื้อคลามีเดีย หรือหนองในเทียม (Chlamydia) โรคหนองในแท้ (Gonorrhea) โรคซิฟิลิส (Syphilis) และโรคติดเชื้อ HIV (Human Immunodeficiency Virus)
- คนที่ เป็นโรคที่ทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
- คนที่สูบบุหรี่
เริ่มตรวจมะเร็งปากมดลูกตอนไหนดี ?
การพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและการตรวจภายในสำหรับหาโรคอื่น ๆ เป็นเรื่องปกติที่ผู้หญิงทุกคนควรทำ เพื่อเฝ้าระวังสุขภาพของตนเองและตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ ป้องกันไม่ให้โรคร้ายลุกลามจนยากต่อการรักษา
สำหรับคำแนะนำในการเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกคือตั้งแต่ช่วงอายุ 21 ปี หรือหลังมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก และควรหมั่นไปตรวจซ้ำทุก ๆ 3-5 ปี โดยหากผลการตรวจพบความผิดปกติ แพทย์จะทำการวินิจฉัยและรักษาต่อไป
นอกจากนี้ ผู้หญิงทุกคนควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เช่น เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด ปวดท้องน้อย ตกขาวมีกลิ่นเหม็นหรือมีสีผิดปกติ หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว
ถ้าฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV vaccine) แล้ว ยังต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไหม ?
แม้ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ก็ควรตรวจมะเร็งปากมดลูกควรตรวจเป็นประจำทุกปี เนื่องจากวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชืื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 มีประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกถึง 90 % แต่การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจะช่วยหาความผิดปกติของโรคที่อาจเกิดจากเชื้อ HPV สายพันธุ์อื่น ๆ หรือที่อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ
อย่างไรก็ตามหากหลังอายุ 65 ปีขึ้นไป ไม่มีประวัติการติดเชื้อ ไม่เคยเจอโรคจากการคัดกรอง ไม่มีภาวะหรือความเสี่ยงอื่น ๆ อาจไม่ต้องตรวจคัดกรองแล้ว แต่หากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ควรพบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
การเตรียมตัวก่อนตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมักจะใช้การตรวจ Pap smear ซึ่งจำเป็นต้องมีการเก็บตัวอย่างเซลล์มาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ก่อนเข้ารับการตรวจแนะนำให้เตรียมตัวดังนี้
- งดมีเพศสัมพันธ์ก่อนรับการตรวจ 24-48 ชม.
- ควรนัดตรวจ Pap smear ช่วงที่ไม่ได้มีประจำเดือน หรือพ้นช่วงมีประจำเดือนครั้งล่าสุดประมาณ 10-20 วัน
- งดใช้ยาสวนหรือ ยาทาบริเวณช่องคลอดก่อนการตรวจ 48 ชั่วโมง หรือแจ้งผู้ให้บริการในสถานพยาบาลรับทราบว่าใช้ยาอะไรอยู่ตั้งแต่วันที่ทำนัดเพื่อฟังข้อปฏิบัติ
- ไม่จำเป็นต้องโกนขนอวัยวะเพศ
- พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่จำเป็นต้องอดอาหารก่อนการตรวจ
มะเร็งปากมดลูกแม้จะเป็นโรคที่ร้ายแรง แต่เป็นโรคที่ป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV และการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก ๆ 3-5 ปี ทั้งนี้สาว ๆ ต้องไม่ละเลยการดูแลสุขภาพในมิติอื่น ๆ ทั้งการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
หากมีข้อสงสัยสามารถทำนัด สอบถามข้อมูลหรือปรึกษากับทีมศูนย์สุขภาพสตรี ได้ที่ทุกช่องทางการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา
Reference,
Cervical Cancer: Causes, Symptoms, Diagnosis & Treatment (clevelandclinic.org)