Skip to content

มะเร็งต่อมลูกหมากมีอาการอย่างไร โรคนี้ตรวจเจอได้จากอะไรบ้าง  ?

อาการมะเร็งต่อมลูกหมาก ระยะแรก

สุขภาพอวัยวะเพศเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรใส่ใจถึงความเปลี่ยนแปลง เพราะความผิดปกติบางอย่างอาจบ่งบอกถึงโรคร้ายได้ สำหรับเพศชายโรคที่หลายคนนึกถึงคงไม่พ้นโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของต่อมลูกหมากเช่นโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งต่อมลูกหมาก ในบทความนี้โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยาได้รวบรวมข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้เรารู้จักโรคร้ายในต่อมลูกหมากของเราให้ดียิ่งขึ้น  

รู้จักมะเร็งต่อมลูกหมาก  

ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่มีเฉพาะเพศชาย ตำแหน่งอยู่บริเวณท่อปัสสาวะ รูปร่างคล้ายเกาลัด ทำหน้าที่ผลิตน้ำหล่อเลี้ยงอสุจิ สำหรับมะเร็งต่อมลูกหมากคือโรคที่เซลล์ในอวัยวะต่อมลูกหมากเจริญเติบโตผิดปกติ กลายเป็นก้อนเนื้อหรือเนื้องอกมะเร็ง แพร่กระจายและขยายขนาดจนส่งผลให้เกิดการอุดตันในท่อปัสสาวะ ในระยะร้ายแรงมะเร็งต่อมลูกหมากสามารถแพร่กระจายผ่านกระแสเลือด หรือต่อมน้ำเหลือง ลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆโดยเฉพาะลุกลามไปที่กระดูก จนทำให้ผู้ป่วยมีภาวะทุพลภาพตามมา

10 สัญญาณเตือนมะเร็งต่อมลูกหมาก  

ในระยะเริ่มแรกของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นระยะที่เนื้องอกยังไม่เริ่มแพร่กระจายออกจากต่อมลูกหมาก ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจยังไม่มีอาการที่ชัดเจน แต่หากเซลล์มะเร็งเริ่มเติบโตมากขึ้น อาจมีอาการเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะเช่นเดียวกับอาการของต่อมลูกหมากโต หรือ Benign Prostatic Hyperplasia (BPH) หากมีอาการดังต่อไปนี้อย่างผิดปกติควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ  

  1. ปวดตื้อ ๆ ปวดเสียด บริเวณอุ้งเชิงกรานตอนล่าง  
  2. ปวดบริเวณหลังส่วนล่าง สะโพก หรือต้นขาส่วนบน เนื่องจากเซลล์มะเร็งอาจจะลุกลามไปที่กระดูก 
  3. ปวดปัสสาวะบ่อย   
  4. ปัสสาวะไม่พุ่ง
  5. กลั้นปัสสาวะไม่อยู่  
  6. ปัสสาวะลำบาก
  7. ปัสสาวะมีเลือด  
  8. รู้สึกเจ็บขณะหลั่งอสุจิ หรือมีเลือดปนกับน้ำอสุจิ  
  9. เบื่ออาหาร  
  10. น้ำหนักลดผิดปกติ

ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก  

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคที่แน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงหลาย ๆ ที่อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตผิดปกติในเซลล์ และอาจพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งได้ เช่น 

  • อายุ: เพศชายเมื่ออายุมากขึ้น จะเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้น จากสถิติสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่ามะเร็งต่อมลูกหมากมักตรวจพบในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปี  
  • ประวัติคนในครอบครัว: คนที่มีบุคคลในครอบครัวหรือบรรพบุรุษเพศชายป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้น อนึ่งหากมีคนในครอบครัวหรือบรรพบุรุษเพศหญิงที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้นได้  
  • โรคอ้วน: ปัจจุบันการศึกษาเกี่ยวกับโรคอ้วนและมะเร็งต่อมลูกหมากอาจจะยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด แต่ในผู้ป่วยที่มีโรคอ้วนมีแนวโน้มที่อาการของมะเร็งต่อมลูกหมากจะรุนแรงและมีโอกาสลุกลามสูงกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดี  
  • เชื้อชาติ: ในส่วนของเชื้อชาติก็ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ความเสี่ยงได้อย่างชัดเจน แต่จากตัวเลขสถิติและรายงานการศึกษาของ American Cancer Society พบว่า ชายชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริการาว ๆ 1 ใน 6 จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ความเสี่ยงนี้ยังอาจเกิดขึ้นกับคนที่มีพ่อหรือบรรพบุรุษเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาได้

การวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก  

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่ระยะแรก ๆ เป็นสิ่งสำคัญเพราะมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรกนั้นมักไม่แสดงอาการชัดเจน ซึ่งปัจจุบันการวินิจฉัยสามารถทำได้ 3 วิธีหลัก ๆ คือ  

การเจาะเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็ง (PSA) 

การวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการเจาะเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็ง เป็นการหาความผิดปกติของสารที่อาจสร้างจากเซลล์มะเร็ง สำหรับมะเร็งต่อมลูกหมากแพทย์นิยมตรวจหาสาร PSA (Prostate-specific antigen) ซึ่งเป็นสารที่ผลิตออกมามากผิดปกติในผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก   

การตรวจทางทวารหนัก (Digital rectal examination)   

หรือเรียกย่อ ๆ ว่า DRE เป็นการตรวจต่อมลูกหมากโดยใช้การตรวจทางทวารหนัก เพื่อตรวจคลํารูปร่างและความยืดหยุ่นของต่อมลูกหมาก ใช้เวลาประมาณ 1-2 นาที หากสงสัยว่าเป็นมะเร็งแพทย์มักคลําเจอก้อนแข็ง  

การตรวจด้วยเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Prostate)

MRI เป็นเทคโนโลยีการสร้างภาพสามมิติ ที่ช่วยให้แพทย์เห็นรายละเอียดและตำแหน่งของก้อนมะเร็งในต่อมลูกหมากในระยะเริ่มต้นได้ อีกทั้งยังสามารถช่วย หลีกเลี่ยงให้ไม่ต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากโดยไม่จำเป็น

มะเร็งต่อมลูกหมาก สาเหตุ

การตรวจชิ้นเนื้อพิสูจน์มะเร็ง  

หากได้รับการตรวจวินิจฉัยแล้วพบความผิดปกติ ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการตัดชิ้นเนื้อ (biopsy) เพื่อไปพิสูจน์ทางพยาธิวิทยาว่าเป็นมะเร็งจริงหรือไม่ ในปัจจุบันการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากทําได้ง่าย โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดเข้าทางทวารหนัก แล้ว ตัดเนื้อไปตรวจด้วยเข็มที่มีขนาดเล็กการตัดเนื้อวิธีนี้ไม่จําเป็นต้องดมยาสลบและเมื่อทําเสร็จผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้  

การตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากโดยการใช้ภาพเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็ก (MRI Fusion prostate biopsy) 

MRI Fusion prostate biopsy เป็นเทคโนโลยีการตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก โดยใช้ภาพเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า 3 มิติ (MRI Fusion with Trans rectal or Tran perineum Ultrasound for Prostate Biopsy) แพทย์จะตรวจในผู้ป่วยที่ตรวจเลือด Prostatic Specific Antigen แล้วพบว่าค่า PSA สูงและมีแนวโน้มบ่งชี้การเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยแพทย์จะใช้ภาพคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า 3 มิติ พร้อมสอดเครื่องมืออัลตราซาวนด์แบบ Real – Time เข้าไปทางทวารหนักเพื่อให้เห็นรูปร่าง รายละเอียด และตำแหน่งที่ชัดเจน จากนั้นจะใช้เข็มเจาะเข้าไปยังบริเวณต่อมลูกหมากที่ผิดปกติเพื่อตัดชิ้นเนื้อไปตรวจวินิจฉัยอย่างชัดเจน โดยไม่ต้องสุ่มตัดแบบในอดีตที่บางครั้งทำให้ผู้ป่วยต้องกลับมาตรวจซ้ำ เนื่องจากผลการตรวจมีความคลาดเคลื่อนไม่ชัดเจน 

มะเร็งต่อมลูกหมากตรวจเจอเร็วเพิ่มโอกาสในการรักษา  

การรักษาโรคมะเร็งที่ดีที่สุดคือการรักษาขณะที่โรคยังไม่รุนแรง เพราะมีโอกาสในรักษาหายได้มากขึ้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมักสังเกตความผิดปกติได้และได้รับการวินิจฉัยในระยะแรก ๆ ที่ยังไม่ลุกลามซึ่งเป็นเรื่องดี หากมีความเสี่ยงและสังเกตความผิดปกติได้เร็วจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาโรคมากขึ้นได้ 

หากมีข้อสงสัยสามารถทำนัด สอบถามข้อมูลหรือปรึกษากับทีมศูนย์ศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ ได้ที่ทุกช่องทางการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

 

 


Reference,

Mayo Clinic. (2022). Prostate cancer: Symptoms & causes. Retrieved November 22, 2023, from https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/prostate-cancer/symptoms-causes/syc-20353087

Cleveland Clinic. (2023). Prostate cancer. Retrieved November 22, 2023, from https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/8634-prostate-cancer

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำ และผู้มีความชำนาญด้าน Sexual Dysfunction
ศูนย์ศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ  โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา
คัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง