โรคนิ่วทางเดินปัสสาวะเป็นชื่อรวมของนิ่วที่เกิดในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งจะแบ่งตามตำแหน่งที่อยู่ของนิ่ว ได้แก่ นิ่วในไต นิ่วในท่อไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ และนิ่วในท่อปัสสาวะ โรคนิ่วนั้นมักเริ่มต้นเกิดในไต และต่อมาเลื่อนตำแหน่งไปยังกรวยไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ ซึ่งถ้านิ่วมีขนาดเล็กก็จะหลุดออกมาเองได้ตอนผู้ป่วยปัสสาวะ แต่ถ้านิ่วมีขนาดใหญ่ก็จะไปอุดตันตามตำแหน่งต่าง ๆ
โรคนิ่วทางเดินปัสสาวะพบได้บ่อยประมาณร้อยละ 10 ถึง 20 ของประชากรเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โรคนิ่วไตในคนไทยพบว่ามีอุบัติการณ์การเป็นนิ่วซ้ำสูงมาก ทำให้ทั้งผู้ป่วย และภาครัฐต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา และป้องกันการเกิดนิ่วซ้ำสูงมาก ดังนั้นโรคนิ่วไตจึงจัดเป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชากรไทยเป็นอย่างยิ่ง
โรคนิ่วมีอยู่ด้วยกันสองชนิด คือ นิ่วในถุงน้ำดี และนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งนิ่วทั้งสองประเภทนี้มีความแตกต่างกันทั้งในส่วนประกอบ สาเหตุ รวมทั้งการดูแลรักษา แต่ที่เรียกว่านิ่วเหมือนกัน อันนี้คงเป็นเพราะว่า ลักษณะที่เห็นนั้น เป็นก้อนคล้ายหินเหมือนกัน เวลาพูดถึงโรคนิ่ว แต่การรักษาต้องรู้ว่าเป็นนิ่วที่ไหน โรคนิ่วเป็นโรคที่มีบันทึกมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ ได้มีรายงานพบนิ่วในกระเพาะปัสสาวะในโครงกระดูกศพมัมมี่ของประเทศอียิปต์
ปัจจุบันโรคนิ่วเป็นปัญหาสาธารณสุขที่พบมากทั่วโลก และอุบัติการณ์โรคนิ่วไตมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศไทยมีอุบัติการณ์โรคนิ่วไตสูงมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การมีนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การทำงานของไตเสื่อมลง และอาจร้ายแรงจนถึงเกิดภาวะไตวายเรื้อรังและโรคไตระยะสุดท้าย ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้
สาเหตุของโรคนิ่ว
เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งปัจจัยเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อม เมตาบอลิซึมของร่างกายแต่ละคน ปัจจัยทางพันธุกรรม วิถีการดำเนินชีวิต และอุปนิสัยการบริโภคอาหาร
- สารก่อนิ่วที่มีอยู่ในปัสสาวะตามปกติ ได้แก่ แคลเซียม ฟอสเฟต ออกซาเลต ยูเรต ในภาวะที่มีปริมาณผิดปกติ และสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยสารเหล่านี้สามารถรวมตัวกัน จนกลายเป็นก้อนผลึกแข็ง และมีขนาดใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นนิ่วอุดตันที่บริเวณต่างๆของทางเดินปัสสาวะ
- องค์ประกอบส่วนใหญ่ในก้อนนิ่วเป็นผลึกแร่ธาตุ เช่น แคลเซียมออกซาเลต แคลเซียมฟอสเฟต ยูเรต แมกนีเซียมแอมโมเนียมฟอสเฟต เป็นต้น นิ่วที่พบมากที่สุดในประเทศไทย คือ นิ่วแคลเซียมฟอสเฟตประมาณร้อยละ 80 รองลงมาคือ นิ่วกรดยูริกพบประมาณร้อยละ 10-20
- สารที่ป้องกันการก่อผลึกในปัสสาวะ เรียกว่า สารยับยั้งนิ่ว ที่สำคัญได้แก่ ซิเทรต โพแทสเซียม และแมกนีเซียม ปัจจัยเสี่ยงที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคนิ่วไตไทย คือ การมีสารยับยั้งนิ่วในปัสสาวะต่ำ ได้แก่ ภาวะซิเทรตในปัสสาวะต่ำ พบประมาณร้อยละ 70-90 และภาวะโพแทสเซียมในปัสสาวะต่ำพบประมาณร้อยละ 40-60
อาการโรคนิ่ว
- ปวดท้อง
- ปวดหลัง
- ปัสสาวะขัด
- ปัสสาวะเป็นเลือด
- บางครั้งอาจจะมีลักษณะของปัสสาวะที่มีก้อนนิ่วหลุดออกมาด้วยเหมือนเศษทรายเล็ก ๆ แต่บางคนอาจจะเกิดโรคแทรกซ้อนจากนิ่วได้ เช่น กรวยไตอักเสบจากการติดเชื้อ ท่อไต หรือท่อปัสสาวะอุดตันจากนิ่ว อุดตันนาน ๆ เข้าจะทำให้เกิดไตวายได้ อาการจะเป็นมาก หรือเป็นน้อยขึ้นกับระยะเวลา และขนาดของนิ่วที่เป็น
อาการนิ่วในไต
มีอาการปวดบริเวณเอวด้านหลังที่เป็นตำแหน่งของไต เวลาที่ก้อนนิ่วมันหลุดมาอยู่ในท่อไต จะปวดชนิดที่รุนแรง เหงื่อตก เกิดเป็นพัก ๆ ปัสสาวะอาจมีเลือด หรือเป็นสีน้ำล้างเนื้อร่วมด้วยได้
อาการของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- ปัสสาวะจะขัด ถ่ายเจ็บ ไม่สะดวก บางทีออกกะปริดกะปรอย หรือออกเป็นหยดขุ่นหรือขาวเหมือนมีผงแป้งอยู่ บางครั้งมีเลือด หรือเป็นสีน้ำล้างเนื้อ อาจมีสิ่งที่คล้ายกรวดทรายปนออกมากับปัสสาวะ ถ้านิ่วไปอุดท่อทางเดินปัสสาวะก็จะทำให้เกิดการอยากถ่ายปัสสาวะอยู่เสมอ แต่ก็ถ่ายไม่ออก
- นิ่วเป็นก้อนแข็ง ซึ่งเหมือนหิน มีทั้งเล็ก และใหญ่ หากเกิดไปสีหรือรบกวนผนังของไตหรือกระเพาะปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะ จนเป็นแผลขึ้นมาก็ได้ ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน
- อาการปัสสาวะไม่ออกไม่ได้เกิดจากโรคนิ่วเสมอไป อาจเป็นโรคที่ไตไม่ทำงานหรือทำไม่ปกติ ผลิตน้ำปัสสาวะน้อย หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่นอีก เช่น บางครั้งบางคราวเกิดจากการตีบของท่อปัสสาวะก็ได้
ปัจจัยเสี่ยงโรคนิ่ว
ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคนิ่วอาจแบ่งได้เป็นปัจจัยภายใน เช่น
- กายวิภาคของไต
- พันธุกรรม
- เชื้อชาติ
ปัจจัยภายนอก เช่น
- ปัจจัยทางภูมิศาสตร์
- อากาศ และฤดูกาล
- ปริมาณน้ำที่ดื่ม
- พฤติกรรมการกิน
- อาชีพ
- ยาบางชนิด
กลไกการเกิดโรคนิ่ว
- สาเหตุของการเกิดนิ่วไต คือ การมีสารก่อนิ่วในปัสสาวะสูงกว่าระดับสารยับยั้งนิ่ว ร่วมกับปัจจัยเสริมคือ ปริมาตรของปัสสาวะน้อย ส่งผลให้เกิดภาวะอิ่มตัวยวดยิ่งของสารก่อนิ่วในปัสสาวะ จึงเกิดผลึกที่ไม่ละลายน้ำขึ้น เช่น แคลเซียมออกซาเลต แคลเซียมฟอสเฟต และยูเรต
- ผลึกนิ่วที่เกิดขึ้นจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ส่งผลให้เซลล์บุภายในไตถูกทำลาย ตำแหน่งถูกทำลายนี้จะเป็นพื้นที่ให้ผลึกนิ่วเกาะยึด และรวมกลุ่มกัน เกิดการทับถมของผลึกนิ่วเป็นเวลานานจนกลายเป็นก้อนนิ่วได้ในที่สุด
กลไลการกำจัดนิ่วของร่างกาย
- ในคนปกติที่มีสารยับยั้งนิ่วในปัสสาวะสูงเพียงพอจะสามารถยับยั้งการก่อตัวของผลึกนิ่วได้ โดยสารเหล่านี้จะไปแย่งจับกับสารก่อนิ่ว เช่น ซิเทรตจับกับแคลเซียม หรือแมกนีเซียมจับกับออกซาเลต ทำให้เกิดเป็นสารที่ละลายน้ำได้ดี และขับออกไปพร้อมกับน้ำปัสสาวะ ทำให้ปริมาณสารก่อนิ่วในปัสสาวะลดลง และไม่สามารถรวมตัวกันเป็นผลึกนิ่วได้
- โปรตีนในปัสสาวะหลายชนิดยังทำหน้าที่ป้องกันการก่อผลึกในปัสสาวะ และเมื่อเคลือบที่ผิวผลึก จะช่วยขับผลึกออกไปพร้อมกับปัสสาวะได้ง่ายขึ้น
- ในขณะเดียวกันความผิดปกติของการสังเคราะห์ และการทำงานของโปรตีนยับยั้งนิ่วหลายชนิด เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคนิ่วไต
นิ่วที่พบได้บ่อยในประเทศไทย
ก้อนนิ่วสามารถจำแนกชนิดคร่าวๆ ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ นิ่วชนิดเนื้อเดียวที่มีองค์ประกอบเพียงอย่างเดียว และนิ่วชนิดเนื้อผสมที่มีหลากหลายองค์ประกอบรวมกัน นิ่วส่วนใหญ่ที่พบในประเทศไทยเป็นนิ่วเนื้อผสม นอกจากนั้นเราสามารถแบ่งชนิดนิ่วได้จากองค์ประกอบหลักที่สำคัญในก้อนนิ่ว ได้แก่ นิ่วแคลเซียมออกซาเลต นิ่วแคลเซียมฟอสเฟต นิ่วยูเรตหรือนิ่วกรดยูริก นิ่วสตูไวท์หรือนิ่วติดเชื้อ นิ่วซีสทีน นิ่วชนิดอื่นๆ
โรคนิ่วในไต
โรคนิ่วในไต เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และพบมากในช่วงอายุ 30-40 ปี ในบ้านเราพบมากทางภาคเหนือ และภาคอีสาน นิ่วอาจมีขนาดต่างๆ กัน อาจมีเพียงก้อนเดียว หรือหลายก้อนก็ได้ ส่วนมากมักเป็นที่ไตเพียงข้างเดียว ที่เป็นทั้งสองข้างอาจพบได้บ้างบางรายอาจเป็นซ้ำๆ หลายครั้งก็ได้
สาเหตุโรคนิ่วในไต
ก้อนนิ่วที่เกิดขึ้นในไตประกอบด้วยหินปูนแคลเซียม กับสารเคมีอื่นๆ เช่น ออกซาเลต, กรดยูริก เป็นต้น การเกิดนิ่วจึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะที่มีแคลเซียมในปัสสาวะมากผิดปกติ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการกินอาหารที่แคลเซียมสูง การดื่มนมมากๆ หรือมีภาวะผิดปกติอื่นๆ เช่น ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินไปซึ่งทำให้แคลเซียมในเลือดสูง นอกจากนี้ ยังพบเป็นโรคแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคเกาต์ ซึ่งมีการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ
กลไกของการเกิดนิ่วนั้น ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าคงมีปัจจัยร่วมกันหลายอย่างด้วยกัน เช่น การอยู่ในเขตร้อนที่ร่างกายสูญเสียเหงื่อง่าย แล้วดื่มน้ำน้อย ทำให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นของแคลเซียม, การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ, ความผิดปกติทางโครงสร้างของไต เป็นต้น คนที่ชอบกินอาหารที่มีสารซาเลตสูง หรือกินวิตามินซีขนาดสูงๆ ซึ่งจะกลายเป็นสารออกซาเลตสูง ก็มีโอกาสเป็นนิ่วมากกว่าคนปกติ
อาการโรคนิ่วในไตที่พบบ่อย
ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดเอวปวดหลังข้างใดข้างหนึ่ง ลักษณะปวดแบบเสียดๆ หรือปวดบิดเป็นพักๆ อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะอาจมีลักษณะขุ่นแดง หรือมีเม็ดทราย ถ้าก้อนนิ่วมีขนาดเล็ก อาจตกลงมาที่ท่อไต ทำให้เกิดอาการปวดบิดในท้องรุนแรง บางรายอาจไม่มีอาการแสดงเลยก็ได้ ในขณะที่บางรายพบอาการแทรกซ้อน อาจทำให้เกิดการติดเชื้อกลายเป็นกรวยไตอักเสบ และถ้าปล่อยไว้นานๆ มีการติดเชื้อบ่อยๆ ก็ทำให้เนื้อไตเสีย กลายเป็นไตวายเรื้อรังได้
หากสงสัยควรส่งโรงพยาบาล มักจะวินิจฉัยโดยการตรวจปัสสาวะ จะพบมีเม็ดเลือดแดงจำนวนมาก ตรวจเลือด เอกซเรย์ อัลตราซาวด์ เอกซเรย์ไตด้วยการฉีดสี และอาจตรวจพิเศษอื่นๆ ถ้าจำเป็น
ถ้านิ่วก้อนเล็กอาจหลุดออกมาได้เอง แต้ถ้าก้อนใหญ่อาจต้องผ่าตัดเอาออก หรือใช้เครื่องสลายนิ่ว หรือสลายนิ่วโดยการใช้เสียงความถี่สูงทำให้นิ่วระเบิดเป็นผงโดยไม่ต้องผ่าตัด
โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ พบมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่แล้วเกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี
อาการโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
ผู้ป่วยที่มีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะอาจมีอาการปัสสาวะขัด เจ็บเวลาถ่ายปัสสาวะ น้ำปัสสาวะอาจมีลักษณะขุ่น บางรายมีลักษณะเป็นสีน้ำล้างเนื้อหรือเป็นเลือด บางรายถ่ายออกมามีก้อนนิ่วเล็กๆ หรือกรวดทรายปนกับน้ำปัสสาวะ ผู้ป่วยที่เป็นอยู่นานจนก้อนนิ่วโตแล้ว ก็จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนนิ่วออก
สาเหตุโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะเกิดจากการได้อาหารที่ขาดฟอสฟอรัส และขาดโปรตีน โดยเด็กที่เกิดมาในชนบทของภาคอีสานมักได้ข้าวย้ำภายในอายุ 4 สัปดาห์แรกหลังคลอด ทำให้เด็กได้น้ำนมแม่ซึ่งเป็นแหล่งให้ฟอสฟอรัส และโปรตีนน้อยลงการกินอาหารซึ่งให้ผลึกออกซาเลตมาก เช่น ผักโขม ผักแพว ผักกระโดน ร่วมกับการขาดฟอสฟอรัส และโปรตีนที่กล่าวแล้ว ยิ่งทำให้ผลึกออกซาเลตจับตัวเป็นก้อนนิ่วได้ง่ายขึ้น
การป้องกันโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ มีความสำคัญทั้งต่อประชาชนเอง และต่อประเทศชาติ ประโยชน์ต่อประชาชนที่ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการของโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ประเทศชาติก็ไม่ต้องเสียเงินค่ารักษา และผ่าตัดผู้ป่วยโรคนี้ วิธีการป้องกันที่เร่งด่วน โดยให้ฟอสฟอรัสเสริมแก่ประชาชนที่อยู่ในถิ่นที่เป็นโรคนี้ ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาว ต้องให้ความรู้ด้านโภชนาการแก่ประชาชนให้กินอาหารที่มีฟอสฟอรัสและโปรตีนมากขึ้นร่วมกับการกินอาหารที่ให้ผลึกออกซาเลตให้น้อยลง
โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลสุขภาพ หรือโทร.1719
ข้อมูลจาก BangkokHealth.com
hbspt.cta.load(21386471, ‘8804f3ad-37cf-4475-9ad5-965a812e6ecb’, {“useNewLoader”:”true”,”region”:”na1″});