โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ (Erectile dysfunction) คืออะไร ?
โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หมายถึง การที่อวัยวะเพศไม่สามารถแข็งตัวได้อย่างเพียงพอ ที่จะมีเพศสัมพันธ์ หรือบางคนอาจจะแข็งตัวได้ไม่นานพอ ทำให้มีปัญหาทางกายและจิตใจตามมา เช่น ความมั่นใจในตัวเองลดลง มีปัญหาเรื่องชีวิตคู่ หรือ ไม่มีความมั่นใจในตัวเองเวลาที่จะมีกิจกรรมทางเพศ
กลไกการแข็งตัวของอวัยวะเพศ
- ต้องมีสิ่งเร้ากระตุ้นให้สมองหลั่งสารสื่อประสาท ไปกระตุ้นให้อวัยวะเพศหลั่งสารไนตริกออกไซด์
- สารไนตริกออกไซด์ จะกระตุ้นให้เส้นเลือดแดงในอวัยวะเพศขยาย 2 เท่า ทำให้เลือดเข้าไปในเนื้อเยื่อของอวัยวะเพศได้
- เมื่อเลือดเข้าไปในอวัยวะเพศ จะทำให้เนื้อเยื่ออวัยวะเพศขยายตัว และไปกดทับเส้นเลือดดำเข้ากับปลอกหุ้มอวัยวะเพศ ทำให้เลือดถูกกักเก็บในอวัยวะเพศได้ เกิดการแข็งตัวของอวัยวะเพศอย่างเต็มที่
กลุ่มเสี่ยงโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
อุบัติการณ์ในการเกิดโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศพบมากขึ้นตามอายุ โดยพบว่าผู้ที่มีอายุ 40-49 , 50-59, 60-70 ปี จะพบโรคนี้ได้ร้อยละ 20.4, 46.3, 73.4 ตามลำดับ ซึ่งภาวะเสี่ยงในการเกิดโรค เช่น
- มีโรคประจำตัว เช่น โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคซึมเศร้า
- ดื่มสุรา สูบบุหรี่
- ขาดการออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ
- เคยผ่าตัดบริเวณอุ้งเชีงกราน ผ่าตัดหลัง ผ่าตัดต่อมลูกหมาก ผ่าตัดท่อปัสสาวะ
- มีอุบัติเหตุที่กระดูกสันหลัง อุ้งเชิงกราน และที่อวัยวะเพศ
- ทานยาบางชนิด เช่น ยาโรคความดันโลหิตสูงบางตัว ยาโรคจิตเภท ยาโรคซึมเศร้า ยาต่อมลูกหมากบางตัว เป็นต้น
สาเหตุของการเกิดโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ แบ่งได้เป็น 4 สาเหตุ คือ
1. ความผิดปกติที่เส้นเลือดในอวัยวะเพศ
พบได้ประมาณ ร้อยละ 70 ของผู้ป่วย และเป็นสาเหตุหลักในการเกิดโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
- เส้นเลือดแดงที่เข้าไปเลี้ยงอวัยวะเพศอุดตัน ทำให้เลือดเข้าไปเลี้ยงอวัยวะเพศได้ไม่เพียงพอ
- ความผิดปกติกลไกของการกดทับเส้นเลือดดำ ทำให้เลือดไม่สามารถกักเก็บในอวัยวะเพศได้
- มีความผิดปกติร่วมกันระหว่างเส้นเลือดแดงอุดตัน และกลไกการกดทับเล้นเลือดดำผิดปกติ
2. ความผิดปกติที่ระบบประสาท
ผู้ป่วยอาจจะมีความผิดปกติได้ตั้งแต่ระดับสมอง ไขสันหลัง เส้นประสาทในอุ้งเชิงกราน เส้นประสาทที่อวัยวะเพศ เป็นต้น
3. ความผิดปกติของภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย
ผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย อาจจะมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น ความรู้สึกทางเพศลดลง ความต้องการทางเพศลดลง อวัยวะเพศแข็งตัวลดลงโดยเฉพาะในตอนเช้า รู้สึกไม่มีแรง อ่อนเพลีย ความตั้งใจในการทำงานลดลง หรืออาจจะพบได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูงหรือต่ำกว่าปกติ
4. ความผิดปกติของภาวะทางจิตใจ
ในอดีตมีความเชื่อว่า 90 % ของผู้ป่วยที่มีภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศเกิดจากภาวะทางจิตใจ แต่ปัจจุบันพบว่า เกิดจากโรคทางกายมากกว่าโรคทางจิตใจ
แต่ภาวะทางจิตใจที่ส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศ สามารถพบได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะความเครียด โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท หรืออาจจะเกิดจากยาทางด้านจิตเวชได้เช่นเดียวกัน
การตรวจและการวินิจฉัยโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ แพทย์จะทำการซักประวัติ เรื่องลักษณะการแข็งตัว ความต้องการทางเพศ ความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ ประวัติการเจ็บป่วย การผ่าตัดในอดีต โรคประจำตัว และยาที่ใช้อยู่เป็นประจำ
ตรวจร่างกาย เพื่อประเมินความผิดปกติที่อวัยวะเพศ ขนาดของลูกอัณฑะ และตรวจดูต่อมลูกหมากในบางราย
การวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ
- แพทย์อาจจะตรวจเลือดเพื่อดูโรคประจำตัว เช่น น้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด การทำงานของตับและไต ตรวจคัดกรองหามะเร็งต่อมลูกหมาก และตรวจหาระดับฮอร์โมนเพศชาย ในผู้ป่วยที่มีความต้องการทางเพศลดลงด้วย
- การตรวจหาความผิดปกติในเส้นเลือดของอวัยวะเพศ (Penile Doppler ultrasound) ซึ่งจะตรวจในผู้ป่วยบางกรณีที่มีปัญหาขั้นรุนแรง โดยเป็นการตรวจวัดการทำงานของเส้นเลือดแดง และเส้นเลือดดำในอวัยวะเพศ เพื่อหาสาเหตุและทางเลือกในการรักษาอื่นๆ
การรักษาโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
เริ่มด้วยการที่ต้องรักษาโรคประจำตัว เช่น ควบคุมน้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด และความดันโลหิต งดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการลดน้ำหนัก
ปรับเปลี่ยนยาบางตัวที่มีผลต่อภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ถ้าผู้ป่วยมีความผิดปกติทางภาวะจิตใจ ให้ผู้ป่วยไปพบจิตแพทย์ ในผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย ให้รักษาโดยการให้ฮอร์โมนเพศชายทดแทน
1. การรักษาโดยการใช้ยา
โดยการใช้ยาในกลุ่ม PDE-5 Inhibitor เช่น Viagra, Levitra, Cialis โดยจะต้องรับประทานก่อนมีเพศสัมพันธ์ ประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง ซึ่งยาในกลุ่มนี้จะไม่สามารถใช้ร่วมกับยาในกลุ่ม Nitrate ได้ และยาในกลุ่มนี้ผลข้างเคียง เช่น ใจสั่น ปวดศรีษะ เห็นแสงวูบวาบ คัดจมูก เป็นต้น
2. การใช้กระบอกสุญญากาศ (Vacuum device)
โดยการใช้กระบอกสุญญากาศครอบที่อวัยวะเพศ หลังจากนั้นก็สูบอากาศออกจากท่อ ทำให้เลือดเข้าไปในอวัยวะเพศจนอวัยวะเพศแข็งตัวได้ดี หลังจากนั้นจึงใช้ยางรัดเพื่อไม่ให้เลือดไหลออก
3. การใช้คลื่นเสียงความถี่ต่ำ (Shockwave therapy)
เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่ต่ำกระแทกในเนื้อเยื่อของอวัยวะเพศ เป็นเทคโนโลยีและทางเลือกใหม่ที่ช่วยให้เกิดการสร้างเส้นเลือดใหม่ขึ้นในอวัยวะเพศ ทำให้เกิดการฟื้นฟูและรักษาโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ วิธีการคือ ใช้คลื่นเสียงความถี่ต่ำแบบแรงกระแทกจากภายนอกไปบนอวัยวะเพศ ให้ได้รับการรักษาดังกล่าว 1 ครั้ง/สัปดาห์ เป็นเวลาติดต่อกัน 5 สัปดาห์ พบว่าช่วยให้มีการสร้างเส้นเลือดใหม่ขึ้นในอวัยวะเพศ ทำให้เกิดการแข็งตัวของอวัยวะเพศได้ดีขึ้น
ใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเลือดไปเลี้ยงอวัยวะเพศไม่เพียงพอ เช่น ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หรือในผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการทานยาเพื่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศ แล้วไม่ต้องการทานยาประจำ ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้พบว่าไม่มีอาการปวดขณะที่ทำ และไม่พบผลข้างเคียงในระหว่างและหลังการรักษาแต่อย่างใด
4. การรักษาโดยการใช้ยาฉีด
เป็นการใช้ยาฉีดเข้าไปในอวัยวะเพศโดยตรง ก่อนมีเพศสัมพันธ์ 5-10 นาที มีประสิทธิภาพประมาณ 70 % เป็นกลุ่มยาพวก prostaglandin E1 ซึ่งสามารถทำให้อวัยวะเพศแข็งตัวได้ประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งวิธีการใช้ต้องอยู่ในความดุแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
5. การรักษาโดยการผ่าตัด
เป็นทางเลือกสุดท้ายในการรักษาผู้ป่วยโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นการผ่าตัดใส่แกนอวัยวะเพศเทียมเข้าไปในอวัยวะเพศโดยตรง ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่า 90 % โดยใช้ในกรณีที่รักษาโดยวิธีการอื่นๆที่กล่าวมา แล้วไม่ได้ผล
โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลสุขภาพ หรือโทร.1719