โรคต่อมลูกหมากโตที่มีอาการรักษาให้หายได้ แต่ต้องไม่อายหมอ
โรคต่อมลูกหมากโตพบได้ในเพศชายอายุตั้งแต่ 40 ปี และจะยิ่งพบมากขึ้นตามอายุ ประมาณว่าเมื่อถึงอายุ 80 ปี ร้อยละ 80 จะเป็นโรคต่อมลูกหมากโต โดยทั่วไปถึงแม้ว่าต่อมลูกหมากจะโตขึ้น จะพบว่าร้อยละ 40-50 ของผู้ป่วยเท่านั้นที่จะมีอาการของโรคนี้ เนื่องจากเนื้อต่อมซึ่งอยู่ด้านในสุดล้อมรอบท่อปัสสาวะ ซึ่งเป็นส่วนที่โตขึ้นนี้ จะบีบท่อปัสสาวะทำให้แคบลง และทำให้เกิดอาการปัสสาวะขัด รวมทั้งอาการอื่น ๆ ของโรคนี้ด้วย ปกติโรคต่อมลูกหมากโต จะไม่รบกวนกับปัญหาทางเพศ อย่างไรก็ตามอาการทางปัสสาวะที่รุนแรง อาจทำให้ดูคล้ายกับว่า สมรรถภาพทางเพศเสื่อมเสียไป อีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ โรคต่อมลูกหมากโตไม่ใช่มะเร็ง และไม่กลายเป็นมะเร็ง แต่ทั้งสองโรค อาจพบร่วมกันได้ในบางคน ทั้งนี้ เนื่องจากว่าตำแหน่งที่เกิดโรคทั้งสองนี้ ไม่เหมือนกันนั่นเอง
จะทราบได้อย่างไรว่ามีอาการของโรคต่อมลูกหมากโต
- ลุกขึ้นมาถ่ายปัสสาวะกลางดึกมากกว่า 2 ครั้ง
- ต้องไปถ่ายปัสสาวะบ่อย ๆ กลั้นไว้ได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง
- เมื่อเริ่มปวดปัสสาวะแล้วกลั้นไม่ได้ ต้องรีบเข้าห้องน้ำ
- เมื่อเริ่มจะถ่ายปัสสาวะ ต้องเบ่งหรือรอนานก่อนจะถ่ายปัสสาวะออกมาได้
- สายปัสสาวะไม่พุ่งไหลช้าเป็นลำเล็ก
- สายปัสสาวะขาดตอนเป็นช่วง ๆ ไหล ๆ หยุด ๆ
- รู้สึกเหมือนปัสสาวะไม่สุดดี ปัสสาวะเสร็จแล้วยังอยากไปอีก
การวินิจฉัยโรค
1.การซักประวัติแพทย์จะซักถามอาการ ระยะเวลาที่เริ่มเป็นมา บางครั้งใช้แบบสอบถามให้คะแนนอาการขับถ่ายปัสสาวะผิดปกติ
2. แพทย์ จะตรวจสอบต่อมลูกหมาก โดยสวมถุงมือใช้ยาหล่อลื่นคลำต่อมลูกหมาก เพื่อพิจารณาขนาด และลักษณะผิวนอก เพื่อแยกโรคมะเร็งต่อมลูกหมากออกจากโรคต่อมลูกหมากโต
3.การตรวจสอบสายปัสสาวะว่าขัดมากน้อยแค่ไหน และดูปริมาณปัสสาวะที่เหลือค้าง
4.ตรวจเอนไซม์ในเลือดชื่อ พี.เอส.เอ (PSA : Prostate Specific Antigen)
5.ตรวจสอบด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ สามารถวัดขนาดของต่อมลูกหมาก และตัดชิ้นเนื้อด้วยเข็มเล็ก ๆ เพื่อหาสาเหตุเมื่อค่า พี.เอส.เอ. สูงมากเกินไป
6.ตรวจสอบภายในด้วยกล้องส่องกระเพาะปัสสาวะ เมื่อมีความจำเป็น
หมายเหตุ : การวินิจฉัยข้อ 1-3 เป็นวิธีการขั้นต้นที่มีความจำเป็นก่อนที่จะพิจารณาการตรวจอื่น ๆ ตามความเหมาะสม.