Skip to content

การรักษาโรคทางกระดูกและข้อด้วย พลาสมา PRP

PRP ย่อมาจาก Platelet Rich Plasma หมายถึงการนำเอา “พลาสมา” หรือของเหลวในร่างกายของตัวคนไข้เองมาใช้ในการรักษาโรคทางกระดูกและข้อ รวมถึงโรคที่มีความเสื่อมของเส้นเอ็นบริเวณจุดต่างๆ ซึ่งไม่ทำให้มีสารเคมีตกค้างในร่างกาย ผู้ป่วยไม่ต้องกลัวการแพ้ยา เพราะรักษาโดยใช้ส่วนประกอบของเลือดผู้ป่วยเอง โดยการนำเลือดมาปั่น แล้วฉีดกลับเข้าไปในบริเวณที่มีอาการบาดเจ็บ 

ขั้นตอนการฉีด PRP

เริ่มจากการนำเลือดของเราเองมาจำนวนหนึ่ง ประมาณ 25-30 ซีซี มาปั่นโดยเครื่องปั่นความเร็วสูงเพื่อทำการแยกชั้นของเหลวและนำเอาเม็ดเลือดแดงที่ไม่ต้องการใช้ออกไป ใช้แต่เฉพาะสารพลาสมาและเกล็ดเลือด สารพลาสมาที่ได้มาจะมีความเข้มข้นของสารซ่อมแซมและสร้างเนื้อ เยื่อเกี่ยวพันในปริมาณสูงกว่าเลือดปกติถึง 10-25 เท่า ขึ้นกับสภาพร่างกาย อายุ ความแข็งแรงของแต่ละบุคคล ยิ่งอายุของคนไข้น้อยจะยิ่งมีความเข้มข้นสูงและมีประสิทธิภาพในการซ่อมแซมมาก  

ข้อดีของ PRP

  • ปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเลือด เพราะใช้พลาสมาของตัวเอง
  • ช่วยหลีกเลี่ยงการใช้ยาต้านการอักเสบ [NSAIDs] และยาสเตียรอยด์ [Steroid]
  • ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของกระเพาะอาหาร ลำไส้ และการทำงานของไต
  • สามารถทำการรักษาวิธีนี้ซ้ำๆ ได้หลายครั้ง  

PRP เหมาะกับใครบ้าง

  1. นักกีฬาหรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่เส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อฉีกขาด เช่น นักเทนนิส นักกอล์ฟ นักฟุตบอล เป็นต้น
  2. ผู้ที่ข้อต่อกระดูกสันหลังมีการบาดเจ็บ รวมถึงข้อต่อมีการอักเสบหรือเสื่อมสภาพ ตรงระดับคอ ระดับเอว หรือ ระดับทรวงอก ที่เรียกว่าข้อต่อฟาเซต [Facet Joint]
  3. ผู้มีอาการกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืด หรือ โรคกล้ามเนื้อหดเกร็งที่มีอาการปวดแบบเรื้อรัง โดยเฉพาะบริเวณคอ บ่า ไหล่ เอว เป็นต้น
  4. การบาดเจ็บกล้ามเนื้อแบบเรื้อรัง ที่ทำการรักษาแบบมาตรฐานแล้วยังหายไม่สมบูรณ์ มีอาการปวดเป็น ๆ หาย ๆ กลับมาเป็นซ้ำ ๆ
  5. พิจารณาใช้ในภาวะข้อเสื่อม เช่น ข้อเข่า ข้อไหล่ 

ผลการรักษา

จากงานวิจัยหลากหลายพบว่า อาจทำการฉีดเพียงครั้งเดียว หรือสามารถทำการฉีดซ้ำในบริเวณที่มีอาการบาดเจ็บเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 2-8 สัปดาห์ได้ หรือฉีดซ้ำจนกว่าอาการปวดหรืออาการอักเสบนั้นๆ หายไป ทั้งนี้เนื่องจากต้องให้ระยะเวลาของเซลล์และเนื้อเยื่อเกี่ยวพันมีเวลาในการซ่อมแซม ไม่หายเป็นปลิดทิ้งในทันทีทันใด หรืออาการหายปวดหายไปอย่างชัดเจนรวดเร็วเหมือนกับการฉีดยาต้านการอักเสบแบบสเตียรอยด์ แต่อีกมุมมองนับว่าเป็นข้อดีของการรักษานี้คือ ทำให้แพทย์สามารถลดการใช้ยาต้านการอักเสบในผู้ป่วยที่ไม่จำเป็น หรือใช้ยามากเกินความจำเป็น

            

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ ด้านเวชศาสตร์การกีฬาและการผ่าตัดข้อไหล่
ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง