Skip to content

อาการชาและปวดที่มือ จากเส้นประสาทบริเวณข้อมือถูกกดทับ

อาการเส้นประสาทมีเดียนบริเวณข้อมือถูกกดทับ เกิดจากการกดทับต่อเส้นประสาทชื่อว่ามีเดียน (Median) บริเวณข้อมือ เป็นสาเหตุของมือชาที่เกิดจากการกดทับต่อเส้นประสาทที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งชื่อของกลุ่มอาการ Carpal tunnel syndrome นั้น มีความหมายตรงตัว Carpus เป็นภาษาละติน แปลว่าข้อมือ Carpal tunnel จึงหมายถึงอุโมงค์ที่ข้อมือ ที่มีเส้นประสาทมีเดียนวิ่งผ่านร่วมกับเอ็นงอนิ้วมืออีกหลายเส้น การใช้มือและข้อมือทำกิจกรรมมากๆ หรือนานๆ ทำให้เส้นประสาทถูกกดเบียดเข้ากับเอ็นที่เป็นหลังคาของอุโมงค์ด้านบน (Transverse carpal ligament) ก่อให้เกิดอาการมือชาบริเวณนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางบางส่วน  

ปัจจัยเสี่ยง

โรคนี้อยู่ที่การใช้มือในกิจกรรมต่างๆ ในประจำวันที่ข้อมืออยู่ในท่างอหรือเหยียดขึ้นอยู่เป็นเวลานานๆ เช่น การใช้โทรศัพท์ การขับรถ การพิมพ์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งในท่าทางเหล่านี้เอง เป็นท่าที่เส้นประสาทจะถูกกดทับโดยเอ็นที่เป็นหลังคาของอุโมงค์ด้านบน ทำให้มีอาการมือชาได้ การถูกดทับอาจเกิดขึ้นได้ทางอ้อมจากการใช้งานมือมากๆ จนเยื่อหุ้มเอ็นอักเสบ บวมหนาจนไปเบียดเส้นประสาทมีเดียนที่อยู่ในช่องอุโมงค์เดียวกัน ก็ทำให้เกิดอาการมือชาได้เช่นกัน  

การรักษา

การรักษาการกดทับของเส้นประสาทมีเดียนบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome) หากรักษาด้วยการพัก การทำกายภาพบำบัด และการให้ยาลดการอักเสบ ไม่ว่าจะรับประทานหรือฉีดยาเฉพาะที่แล้ว การผ่าตัด จึงเป็นอีกทางที่ช่วยรักษาให้หายขาดได้ โดยการผ่าตัดนี้เป็นการทำให้เส้นทางที่เส้นประสาทวิ่งผ่านเปิดโล่งขึ้น ด้วยการผ่าคลายเอ็นที่เป็นหลังคาของอุโมงค์ที่เส้นประสาทมีเดียนลอดผ่าน (Transverse carpal ligament release) ทำให้เส้นประสาทไม่ถูกกดเบียดภายในอุโมงค์ 

การผ่าตัด ทำได้ 2 แบบ

1.แบบเปิดแผลผ่าตัดที่ผ่ามือ (Open transverse carpal ligament release) ซึ่งเป็นวิธีที่ทำกันมานานได้ผลการรักษาดี แต่จะมีแผลที่บริเวณฝ่ามือขนาด 2-3 ซม. แต่เนื่องจากฝ่ามือเป็นส่วนที่ต้องใช้รับสัมผัส ต้องโดนน้ำเป็นประจำ ทำให้ยากต่อการดูเเลตัวเองหลังผ่าตัด อีกทั้งแผลเป็นบริเวณนี้ยังทำให้เจ็บรำคาญได้

2.การผ่าตัดอีกวิธีหนึ่ง คือการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อคลายเอ็นที่เป็นหลังคาของอุโมงค์ที่เส้นประสาท (Endoscopic carpal tunnel release) โดยวิธีนี้ทำให้ไม่มีแผลที่ผ่ามือ แผลผ่าตัดจะเล็กเหลือ 7-8 มม. อยู่ที่ข้อมือแทนทำให้กลับไปใช้มือในชีวิตประจำวันได้เร็วกว่า ลดอาการเจ็บแผลเป็นที่ฝ่ามือหลังผ่าตัด ที่สำคัญสามารถคลายเอ็นที่เป็นหลังคาของอุโมงค์ได้ตลอดความยาวของอุโมงค์ และมีความปลอดภัยสูง

“การผ่าตัดเปรียบได้กับร่างกายของเราเมื่ออ้วนขึ้นก็จะเริ่มรู้สึกอึดอัดถ้าต้องใส่เข็มขัดรูเดิมการขยายรูเข็มขัดเพื่อให้หลวมขึ้น จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้”

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ ด้านศัลยศาสตร์ทางมือและจุลศัลยศาสตร์
ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง