ปัจจัย หรือความเสี่ยงโรคมะเร็งปอด
- บุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่พบมากที่สุดของมะเร็งปอด (มากกว่าร้อยละ 90) โดยเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งปอดได้ถึง 30 เท่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่มีประวัติสูบบุหรี่ ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นตามปริมาณและระยะเวลาที่สูบบุหรี่ และการหยุดสูบบุหรี่ลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอดอย่างมีนัยสำคัญ
- สารเคมีและมลพิษ
- แร่ใยหิน (Asbestos) ผู้ที่ทำงานสัมผัสกับฝุ่นหินในงานต่อไปนี้เป็นเวลาหลายปี อุตสาหกรรมผ้าเบรกรถยนต์ อุตสาหกรรมกระเบื้องมุงหลังคา ท่อซีเมนต์ การรื้อถอนอาคาร สิ่งก่อสร้าง
- ฝุ่น มลภาวะทางอากาศ
- โรคปอดบางชนิด เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคพังผืดเรื้อรัง
- อื่นๆ เช่น อายุ พันธุกรรม การได้รับรังสีในปริมาณสูง
อาการของโรคมะเร็งปอด
- ผู้ป่วยมะเร็งปอดในระยะต้นส่วนใหญ่ไม่มีอาการแสดง ตรวจพบจากภาพรังสีทรวงอกผิดปกติ
- อาการของโรคมะเร็งปอดส่วนใหญ่มักพบในผู้ป่วยที่ก้อนมีขนาดใหญ่ หรือระยะลุกลาม
- ไอเรื้อรัง หรือไอออกเลือด
- เจ็บหน้าอก
- หอบเหนื่อย
- เสียงแหบ
- น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด
- อื่นๆ เช่น น้ำหนักลด อ่อนเพลีย, ปวดศีรษะ หน้า คอและแขนบวม, ปวดกระดูก
การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
- การตรวจคัดกรองในผู้ที่ไม่มีอาการโดยใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (Low-dose chest computer tomography) เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปและมีปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งปอด
- การตรวจภาพรังสีช่องอก (chest x-ray) และ/หรือ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอก (Chest computer tomography) ในผู้ป่วยที่มีอาการแสดงสงสัยโรคมะเร็งปอด
การวินิจฉัยโรคมะเร็งปอด
กระบวนการวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดจะทำในผู้ที่พบก้อนหรือภาพผิดปกติจากภาพถ่ายรังสีช่องอก ประกอบด้วยการตรวจเพิ่มเติมและหัตถการต่างๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของก้อนที่ตรวจพบจากภาพถ่ายรังสี
- การตรวจวินิจฉัยทางรังสีเพิ่มเติม เช่น PET/CT scan หรือการตรวจติดตามด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอก (Chest computer tomography)
- การตัดชิ้นเนื้อปอดเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา โดยวิธี ส่องกล้องหลอดลม (Bronchoscopy) การตัดชิ้นส่วนเยื่อหุ้มปอด (Pleural biopsy or Pleuroscope) การเจาะตัดชิ้นเนื้อผ่านผิวหนังทรวงอก (Transthoracic needle biopsy)
- การผ่าตัดเอาปอดกลีบที่มีรอยโรคออก (Lobectomy)
- การส่งตรวจรหัสพันธุกรรมของมะเร็งจากเนื้อเยื่อที่ผิดปกติหรือจากเลือด
การรักษาโรคมะเร็งปอด
แนวทางรักษามะเร็งปอดในปัจจุบันคือ การผ่าตัด เคมีบำบัด การใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy) และรังสีรักษา
- การรักษามะเร็งปอดในระยะเริ่มแรกสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยวิธีการผ่าตัด หรือการผ่าตัดร่วมกับเคมีบำบัด ดังนั้นการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ป่วยในระยะแรกที่ไม่แสดงอาการจึงมีประโยชน์ในบุคคลที่มีความเสี่ยงของโรค
- การรักษามะเร็งปอดในระยะอื่นๆขึ้นกับปัจจัยต่างๆ คือ ขนาดของรอยโรค ตำแหน่ง ชนิดและลักษณะทางพันธุกรรมของเซลล์มะเร็ง ระยะของโรค การแพร่กระจายของโรค อายุและโรคร่วมของผู้ป่วย
Reference
- David M Mannino, MD, Cigarette smoking and other possible risk factors for lung cancer: UpToDate, Feb 18, 2021
- Alberg Aj, Samet JM, Epidemiology of lung cancer, Chest.2003; 123.
- David E Midthun, MD, Clinical manifestations of lung cancer, UpToDate, May 12, 2021
- US Preventive Services Task Force, 2020
Post Views: 2,787