Skip to content

ความดันสูง เสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง

แขนขาอ่อนแรง พูดผิดปกติ ตาพร่ามัว ปวดศีรษะ วิงเวียน ยืนไม่อยู่ ใครที่มีอาการเหล่านี้ต้องระวังให้ดี เพราะมันคือสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าของโรคที่น่ากลัวอย่าง โรคหลอดเลือดสมองที่เมื่อเป็นแล้วจะเกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ซี่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในคนไข้เป็นอันดับ 1 มากกว่าโรคหัวใจและมะเร็ง

ปัจจุบันพบว่า คนไทยมีผู้ป่วยโรคนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากวิถีการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเครียดจากการทำงาน พักผ่อนไม่เพียงพอ รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา ไม่มีเวลาออกกำลัง รวมไปถึงการดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ เหล่านี้ล้วนเป็นผลเสียต่อสุขภาพร่างกายแทบทั้งสิ้น

สำหรับปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งของโรคหลอดเลือดสมอง หรืออัมพาตนั้น คือ ภาวะความดันโลหิตสูง โดยมีข้อมูลรองรับให้เห็นว่า ผู้ที่ไม่ได้รักษาความดันโลหิตสูง อาจมีโอกาสเกิดโรคอัมพาตเพิ่มขึ้นมากกว่าคนปกติถึง 4 เท่า นั่นเพราะความดันโลหิตสูงจะค่อยๆ ทำให้หลอดเลือดภายในร่างกายค่อยๆ เสื่อมไป และตีบลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลอดเลือดสมองนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ถ้าใครมีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ย่อมเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองแตก-ตีบตันมากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงจะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย สอดรับกับสถิติที่พบว่า ผู้หญิงมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองแตก-ตีบตันถึง 60% ในขณะที่ผู้ชายมีโอกาส 40%

นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองโดยไม่รู้ตัว (silent stroke) โดยจะไม่มีอาการของโรคหลอดเลือดสมองอย่างชัดเจน แต่จะมีผลกระทบเกี่ยวกับความทรงจำและกระบวนการคิดซึ่งเป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อม ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงมีโอกาสที่หลอดเลือดในสมองอาจอุดตันหรือแตก ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตมีความพิการหรือตายได้

สำหรับอาการเบื้องต้นของโรคหลอดเลือดสมอง ส่วนมากที่พบบ่อย และสังเกตได้ง่าย คือ แขน ขาอ่อนแรง ชาครึ่งซีก หน้าเบี้ยว พูดลำบาก พูดไม่ชัด ฟังไม่เข้าใจ เดินเซ บางครั้งจะปวดศีรษะรุนแรง ซึ่งอาจแสดงอาการออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจจะหลายอย่างพร้อมกัน อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่มักเริ่มจากแขนขาอ่อนแรง หรือชาบริเวณใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง ตาข้างใดข้างหนึ่งพร่ามัวหรือมองไม่เห็น มีปัญหาด้านการพูดหรือการเข้าใจบทสนทนา ปวดศีรษะเฉียบพลันแบบไม่มีสาเหตุ รวมถึงอาการวิงเวียนหรือ วูบแบบเฉียบพลัน

สำหรับการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ทำได้โดยการค้นหาปัจจัยเสี่ยง และควบคุมรักษาปัจจัยเสี่ยง นั่นคือ ควรวัดความดันโลหิตเป็นระยะ และหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้รู้ว่ามีความผิดปกติอะไรในร่างกาย ไม่เพียงเท่านี้ ควรปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิตสูงให้คงที่ด้วย เช่น ออกกำลังกาย งดกินเค็มเลี่ยงรสจัด กินอาหารไขมันต่ำ ลดการบริโภคแอลกอฮอล์ และ หากมีอาการผิดปกติ เช่น แขนอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดลำบาก ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด รวมทั้งควรตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ เพื่อตรวจหาความเสี่ยง เพราะอาจเกิดลิ่มเลือดในหัวใจหลุดเข้าไปอุดตันในหลอดเลือดสมองได้

ขณะที่อีกหนึ่งวิธี คือ การตรวจสอบความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยการทำอัลตราซาวด์หลอดเลือดคอ (carotid duplex ultrasound) เพื่อตรวจภาวะการอุดตันของหลอดเลือดบริเวณคอ ซึ่งเป็นหลอดเลือดที่สำคัญที่ไปเลี้ยงสมอง หรือ MRI เป็นการถ่ายภาพเอกซเรย์สมองด้วยสนามแม่เหล็ก ที่สามารถให้รายละเอียดของสมองได้ดีและชัดเจนมากยิ่งขึ้น บอกได้ว่าหลอดเลือดอุดตันและเนื้อสมองที่ตายเกิดมานานหรือยัง การรักษาสามารถช่วยให้เนื้อตายกลับฟื้นมาใหม่ได้หรือไม่ แถมยังตรวจสภาพหลอดเลือดได้อย่างดี โดยไม่ต้องฉีดสีเข้าร่างกายด้วย และอีกหนึ่งวิธีคือ การถ่ายภาพสมองด้วยคอมพิวเตอร์ (CT scan) ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเฉียบพลัน มาถึงโรงพยาบาลภายใน 3 ชั่วโมงแรกที่มีอาการ ว่าสมองมีเลือดออก หรือขาดเลือดไปเลี้ยง

จากข้อมูลที่กล่าวไปข้างต้น…ถึงเวลาแล้ว ที่ต้องทุกคนต้องหันมารักตัวเองให้มากขึ้น ด้วยการควบคุมระดับความดันเลือดให้เป็นปกติ กินอาหาร และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงไปพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติตามลักษณะอาการที่กล่าวไปข้างต้น เช่น แขนขาอ่อนแรง พูดผิดปกติ ตาพร่ามัว ปวดศีรษะ วิงเวียน ยืนไม่อยู่

นอกจากนี้ แม้ว่า โรคหลอดเลือดสมองอุดตันหรือตีบ จะเกิดกับกลุ่มคนที่มีอายุมากเป็นส่วนใหญ่ แต่สำหรับโรคนี้ ถึงไม่แก่ แต่ถ้ามีพฤติกรรมเสี่ยง ก็สามารถเกิดโรคได้เช่นกัน ดังนั้นอย่าละเลยอาการวูบโดยเด็ดขาด เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคหลอดเลือดสมองได้ในอนาคต

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง