Skip to content

ปวดหัวไมเกรนคืออะไร? ไม่ใช่ทุกการปวดหัวจะเป็นไมเกรน!

ปวดศีรษะไมเกรน เป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุข ก่อให้เกิดความทุพพลภาพ ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อครอบครัวและสังคม เกิดความสูญเสียทั้งด้านทรัพยากรมนุษย์และเศรษฐกิจของประเทศ แต่ปวดศีรษะไมเกรนสามารถป้องกันและรักษาให้ดีขึ้นได้หากได้รับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างถูกต้อง

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นไมเกรน

ในปัจจุบันทางสมาคมโรคปวดศีรษะนานาชาติ (International Headache Society (IHS)) ได้วางแนวทางการวินิจฉัยไว้ว่า ผู้ป่วยไมเกรนจะต้องมีอาการปวดศีรษะมากกว่า 5 ครั้ง อาการปวดศีรษะแต่ละครั้งตรงตามเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อ ได้แก่

  1. อาการปวดศีรษะแต่ละครั้งมีระยะเวลา 4-72 ชั่วโมง
  2. อาการปวดศีรษะมีลักษณะอย่างน้อย 2 ใน 4 ข้อ ได้แก่
    • ปวดศีรษะซีกเดียว
    • ปวดแบบตุบๆหรือปวดตามชีพจร
    • ความรุนแรงอยู่ในระดับปานกลางถึงมาก
    • ปวดจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้
  3. ขณะมีอาการปวดศีรษะ จะมีอาการร่วมอย่างน้อย 1 ข้อ ได้แก่
    • อาการคลื่นไส้ หรือ อาเจียน
    • หลังอยู่ในที่แสงจ้า หรือ ได้ยินเสียงดัง อาการปวดแย่ลง

โรคปวดศีรษะไมเกรนมีกี่ประเภท

  1. โรคปวดศีรษะไมเกรนที่ไม่มีอาการทางระบบประสาทใด ๆ นำมาก่อน (Migraine with aura) เป็นกลุ่มที่พบได้บ่อยกว่า
  2. ผู้ป่วยไมเกรนที่มีอาการทางระบบประสาท หรือที่เรียกว่าออร่า นำมาก่อน (Migraine with aura) ส่วนใหญ่มักจะมาในรูปแบบของความผิดปกติในการมองเห็น เช่น มองเห็นเป็นแสงซิกแซกระยิบระยับ หรือออาจจะเป็นอาการชาบริเวณมือและปาก

การรักษาโรคไมเกรนโดยการใช้ยา

การใช้ยาแก้ปวด

วัตถุประสงค์เพื่อให้หายปวดศีรษะและอาการร่วมอื่นๆอย่างรวดเร็วภายใน 2 ชั่วโมง และกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ซึ่งยาแก้ปวดจัดแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ยาแก้ปวดทั่วไป และ ยาแก้ปวดเฉพาะไมเกรน

ยาแก้ปวดทั่วไป สำหรับอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง ได้แก่

  • ยาแก้ปวด Paracetamol
  • ยาแก้ปวดกลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น aspirin, ibuprofen, naproxen และ diclofenac

ยาแก้ปวดเฉพาะไมเกรน สำหรับกรณีไม่ตอบสนอง หรือมีผลข้างเคียงต่อยากลุ่มแก้ปวดทั่วไป ได้แก่

  • ยากลุ่มทริปแทน ซึ่งในประเทศไทยมี 2 ชนิด ได้แก่ sumatriptan และ eletriptan
  • ยากลุ่มต้านฤทธิ์ตัวรับโมเลกุลเล็กซีจีอาร์พี (calcitonin gene-related peptide receptor antagonist) ได้แก่ Rimegepant
  • ยา ergotamine

สิ่งสำคัญคือ ควรทานยาแก้ปวดให้เร็วที่สุด โดยเริ่มทานขณะที่เริ่มมีอาการปวดศีรษะและปวดไม่รุนแรง ภายใน 1 ชั่วโมง เพื่อให้อาการปวดศีรษะหายภายใน 2 ชั่วโมง และหายปวดต่อเนื่องถึง 24 ชั่วโมง อย่ารอให้อาการปวดรุนแรง แล้วค่อยเริ่มทานยา เพราะอาจจะไม่หายปวด

นอกจากนี้ยังมีการรักษาแบบไม่ใช้ยา ไม่ว่าจะเป็นการฝังเข็ม (Acupuncture) หรือ การออกกำลังกาย เป็นต้น

การใช้ยาป้องกันไมเกรน

เนื่องจากไมเกรนไม่ใช่เป็นเพียงแค่โรคปวดศีรษะทั่วไป แต่เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมองหลายส่วน ดังนั้นการรับประทานยาแก้ปวดที่มากเกินไปอาจจะทำให้อาการปวดศีรษะแย่ลงและสามารถพัฒนาไปเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนชนิดเรื้อรัง (chronic migraine) หรือเกิดโรคปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดเกินขนาด (medication overuse headache; MOH) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีความทุพพลภาพมากขึ้นกว่าเดิมได้

ดังนั้นผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มดังต่อไปนี้จึงควรได้รับการรับยาป้องกันไมเกรน

  • ผู้ป่วยไมเกรนที่มีอาการปวดศีรษะแล้วส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือการทำงาน
  • ผู้ป่วยที่มีการใช้ยาแก้ปวดเกินความเหมาะสม (ใช้ยาแก้ปวดพาราเซตามอล ยาลดการอักเสบชนิดไม่ใช่เสตียรอยด์ มากกว่า 15 วันต่อเดือน หรือ ยาทริปแทน ยาแก้ปวดที่่มีอนุพันธ์ของฝิ่น มากกว่า 10 วันต่อเดือน)
  • ผู้ป่วยที่มีความถี่ของอาการปวดไมเกรนมากกว่า 4 วันต่อเดือน

โดยยาป้องกันนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ความรุนแรงและความถี่ของอาการปวดศีรษะลดลง ลดระยะเวลาขณะที่มีอาการปวดศีรษะเฉียบพลัน ทำให้การใช้ยาแก้ปวดลดลง รวมทั้งทำให้การออกฤทธิ์ของยาแก้ปวดดีขึ้น ซึ่งได้แก่

  1. กลุ่มยากันชัก ได้แก่ Topiramate และ Sodium Valproate
  2. กลุ่มยาปิดกั้นตัวรับเบต้า (beta-adrenergic receptor antagonist, beta blockers) ได้แก่ Propanolol หรือ Metoprolol
  3. กลุ่มยาต้านเศร้า ได้แก่ Amitriptyline, Venlafaxine
  4. ยาปิดกั้นตัวรับแคลเซียม (calcium channel blocker) เช่น Flunarizine
  5. กลุ่มยา angiotensin-converting enzyme inhibitors (ACEI) และ angiotensin II receptor antagonists (ARB) เช่น Lisinopril และ Candesartan
  6. การฉีดโบท็อกซ์ (Onabotulinum toxin A)
  7. กลุ่ม CGRP monoclonal antibody ซึ่งเป็นยารูปแบบฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ได้แก่ erenumab, fremenezumab, galcanezumab และ eptinezumab
  8. ยากลุ่มต้านฤทธิ์ตัวรับโมเลกุลเล็กซีจีอาร์พี (calcitonin gene-related peptide receptor antagonist) ได้แก่ Rimegepant

Reference:

  1. ชมรมศึกษาโรคปวดศีรษะภายใต้สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัยและการรักษาปวดศีรษะไมเกรน. 1st ed. กรุงเทพมหานคร: สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย; 2565.
  2. Charles AC, et al; American Headache Society.2024 Apr;64(4):333-341.
พญ.สิริณัฐ พึ่งเจริญ
บทความโดย:
 
 
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา
 
ศูนย์สมองและระบบประสาท  โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา
สุขภาพสมอง

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง

preload imagepreload image