นอกจากอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปัญหาด้านการนอนหลับ อาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ และปัญหาทางด้านอารมณ์และพุทธิปัญญาที่เราพอทราบกันไปบ้างแล้วนั้น ผู้ป่วยบางรายอาจมีปัญหาและ/หรืออาการอื่นๆ ที่ควรทราบดังนี้
1. ปัญหาทางตาและการมองเห็น
อาการที่พบได้บ่อย คือตาแห้งและเปลือกตาอักเสบ จากการที่ผู้ป่วยมีการกระพริบตาที่น้อยลง รวมไปถึงยารักษาโรคพาร์กินสันบางชนิดมีผลข้างเคียงที่อาจทำให้ตาแห้งมากขึ้นได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมองเห็นภาพมัว เบลอมากขึ้น หรือสามารถแยกความแตกต่างของเฉดสีได้แย่ลงในช่วงที่ยารักษาโรคพาร์กินสันหมดฤทธิ์
2. ปัญหาการรับรู้กลิ่น
ปัญหานี้เป็นปัญหาที่อาจพบได้ตั้งแต่ก่อนที่ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ผู้ป่วยอาจมีปัญหาในการแยกแยะกลิ่น ได้กลิ่นลดลงหรือรับรู้กลิ่นไม่ได้เลย ปัญหาข้างต้นทำให้ความอยากอาหารของผู้ป่วยลดลง ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยและมีน้ำหนักลดตามมาได้
3. อาการปวด
ลักษณะของการปวดนั้นมีได้ทั้งในรูปแบบของอาการปวดเส้นประสาท ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก ปวดจากการบิดเกร็ง ปวดจากระบบประสาทส่วนกลาง หรือปวดโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยอาจเริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ก่อนหรือหลังการวินิจฉัยโรคพาร์กินสันเป็นเวลาหลายปี ที่สำคัญควรต้องสังเกตว่าอาการปวดนั้นสัมพันธ์กับช่วงเวลาที่ยารักษาโรคพาร์กินสันหมดฤทธิ์หรือไม่ เพื่อให้แพทย์สามารถปรับยาได้อย่างถูกต้อง
4. ภาวะอ่อนเพลีย
ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย รู้สึกไม่มีแรงโดยที่ได้ทำกิจกรรรมใด ๆ เป็นพิเศษ และอาการอ่อนเพลียไม่ได้ดีขึ้นหลังจากที่ได้พักผ่อนหรือนอนหลับอย่างเพียงพอแล้ว โดยสาเหตุของภาวะอ่อนเพลียในผู้ป่วยพาร์กินสันเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น การเคลื่อนไหวที่ช้าหรือลำบากของผู้ป่วย ร่วมกับการแข็งเกร็งหรืออาการสั่นอาจทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้แรง เวลาและความพยายามในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ยากลำบากและยาวนานมากขึ้น หรือผู้ป่วยอยู่ในช่วงที่ยารักษาโรคพาร์กินสันหมดฤทธิ์ก็เป็นไปได้เช่นกัน
หากผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมีปัญหาดังกล่างข้างต้น สามารถพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษาและคำแนะนำที่เหมาะสม เพื่อการรักษาที่ถูกต้องและช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
นายแพทย์ปิยะณัฐ วงศ์วรรณ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท ผู้เชี่ยวชาญโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ
นัดหมายแพทย์ หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สมองและระบบประสาท โทร. 0 3890 9059 หรือ LINE: BPH Brain Center