ดนตรีบำบัด คือ วิชาชีพทางสุขภาพที่นําเอาดนตรีและองค์ประกอบต่าง ๆ ของดนตรีมาประยุกต์ใช้เป็นสื่อกลางในการบําบัดเพื่อเป้าหมายทางสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย, จิตใจ, สังคม, การรู้คิด, การสื่อสาร, การฝึกทักษะต่าง ๆ ตลอดจนการส่งเสริมสุขภาวะ แก่ผู้เข้ารับการบําบัดหลากหลายกลุ่ม หลากหลายช่วงอายุ
ในการทําดนตรีบำบัดนั้นต้องประกอบด้วยกระบวนการบําบัดที่เป็นขั้นเป็นตอน และความสัมพันธ์ทางการบําบัดอันนํามาซึ่งความร่วมมือระหว่างนักดนตรีบำบัดและผู้เข้ารับการบําบัดในการบรรลุเป้าหมายทางการบําบัด
การทําดนตรีบำบัดต้องทําโดยนักดนตรีบำบัดวิชาชีพที่สําเร็จการศึกษาด้านดนตรีบําบัดจากสถาบันอุดมศึกษา โดยวิธีการและกระบวนการที่ใช้นั้นจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ได้จากงานวิจัย ซึ่งในปัจจุบันดนตรีบำบัดเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในประเทศแถบตะวันตก และกําลังเติบโตและพัฒนาในประเทศแถบเอเชีย อย่าง ญี่ปุ่น, จีน, สิงคโปร์, เกาหลีและไทย
ดนตรีบำบัดทําอย่างไร ?
ดนตรีบำบัดสามารถทําได้ทั้งในรูปแบบแบบเดี่ยวและกลุ่ม โดยตัวกิจกรรม, แนวดนตรี, หรือเพลงที่ใช้ในการบําบัด จะถูกออกแบบและเลือกสรรโดยนักดนตรีบําบัดร่วมกับผู้เข้ารับบริการ เพื่อให้ตรงต่อความต้องการ, เป้าหมายของการบําบัด, และรสนิยมทางดนตรีของผู้เข้ารับบริการ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เข้ารับบริการ ตัวอย่างกิจกรรม เช่น การร้องเพลง, เล่นเครื่องดนตรีและตีกลอง, การด้นสด, และการแต่งเพลง เป็นต้น (สามารถมีได้ มากกว่าหนึ่งกิจกรรมในการบําบัดหนึ่งครั้ง)
ผู้เข้ารับบริการดนตรีบำบัด จำเป็นต้องเล่นดนตรีเป็นหรือไม่ ?
ไม่จำเป็น ผู้เข้ารับบริการดนตรีบำบัดไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานด้านดนตรีหรือเคยเล่นเครื่องดนตรีใดๆมาก่อน เพราะจุดมุ่งหมายหลักของการทําดนตรีบำบัด มิใช่การสอนเพื่อให้เล่นดนตรีได้เก่งขึ้น หรือการฝึกฝนเพื่อไปใช้ในการสอบแข่งขันหรือการประกวดด้านดนตรี แต่ คือการส่งเสริมสุขภาวะของผู้เข้ารับบริการ ดังนั้นทุกคนจึงสามารถเข้ารับดนตรีบําบัดได้โดยไม่จำเป็น ต้องมีความรู้หรือทักษะทางดนตรีติดตัวมาก่อน
ดนตรีบำบัดสามารถให้บริการผู้ป่วยกลุ่มใดได้บ้าง ?
ดนตรีบำบัดได้ถูกพัฒนาและนําไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เข้ารับบริการหลากหลายกลุ่ม หลากหลายช่วงอายุ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโรคภาวะสมองเสื่อม, กลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษ, กลุ่มผู้ปวยระยะสุดท้ายหรือผู้ปวยประคับประคอง, กลุ่มโรคหลอดเลือดทางสมอง, กลุ่มโรคทางจิตเวช, ตลอดจนผู้ทีไม่ได้เป็นโรคใดๆ แต่มีความต้องการส่งเสริมสุขภาพ โดยรูปแบบของการทําดนตรีบําบัดจะมีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เข้ารับบริการกลุ่มนั้นๆ