งานวิจัยในหลายประเทศพบว่า ดนตรีบำบัดสามารถช่วยลดอาการซึมเศร้า, ลดความวิตกกังวล, ช่วยให้มีอารมณ์ที่ดี/คงที่ขึ้น, และสามารถนํามาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดกระบวนการใช้ความคิดและความจําในผู้ปวยโรคอัลไซเมอร์, รวมไปถึงช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย
ดนตรีบำบัดช่วยอย่างไร ?
ด้านอารมณ์
การฟังเพลงที่เคยฟังในอดีต หรือเพลงโปรดสมัยตอนเป็นวัยรุ่น สามารถชวนให้เรานึกถึงความทรงจําในเก่า ๆ ที่บางครั้งเราอาจจะลืมมันไปแล้ว ซึ่งการได้นึกถึงความทรงจําดีๆ เหล่านั้น รวมไปถึงการได้เล่าเรืองราวในสมัยก่อนให้ลูก ๆ หลาน ๆ ฟัง ก็สามารถสร้างรอยยิ้ม , เสียงหัวเราะ, และมีส่วนช่วยให้มีอารมณ์ที่ดีขึ้นได้โดยมีงานวิจัยจากประเทศแคนาดาพบว่า การที่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะแรก ฟังเพลงที่เคยชื่นชอบในอดีต จะไปกระตุ้นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองของอารมณ์และความจําเกี่ยวกับอัตชีวประวัติ
ด้านการสื่อสาร
การลืมคําที่จะพูดเป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งบางครั้งอาจก่อให้เกิดความสับสนและความไม่เข้าใจกันระหว่างคนในครอบครัว และอาจนํามาซึ่งความอึดอัด หรือความเครียดทั้งตัวผู้ดูแลและตัวผู้ป่วยเอง งานวิจัยจากประเทศจีนพบว่า ดนตรีบําบัด แบบกลุ่มที่ใช้กิจกรรมร้องเพลงเป็นหลัก มีส่วนช่วยพัฒนาด้านความจําเกี่ยวกับคําศัพท์และการพูด รวมไปถึงด้านอารมณ์
ด้านสังคม
เมื่ออายุเริ่มมากขึ้น การได้ออกไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงก็อาจจะน้อยลงตาม ด้วยปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น สุขภาพ, การเดินทาง เป็นต้น และบางครั้งการอยู่บ้านเป็นเวลานาน ก็อาจทําให้รู้สึกหดหู่และโดดเดี่ยว การทําดนตรีบําบัดแบบกลุ่ม สามารถช่วยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้มีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มคนวัยเดียวกัน การได้ร้องเพลง/เล่นดนตรีร่วมกับผู้อื่น สามารถช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยวลงได้ ซึ่งงานวิจัยจากประเทศแคนาดาพบว่า นอกจากการร้อง เพลงเป็นกลุ่มจะช่วยส่งเสริมด้านสังคม และอารมณ์ในผู้สูงวัยแล้ว ยังสามารถช่วยเบี่ยงเบนความรู้สึกเจ็บปวด (ทางกายภาพ) ได้อีกด้วย
ด้านความคิด-ความจํา
การเล่นดนตรีสามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิดและการใช้ความจํา อีกทั้งการได้ฟังและร้องเพลงยังเป็นส่วนช่วยกระตุ้น ให้ผู้สูงอายุได้อ่านและออกเสียงตามเนื้อเพลง งานวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นพบว่า กิจกรรมดนตรีบําบัดในรูปแบบของการตีกลอง สามารถช่วยให้กลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะความรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย (mild cognitive impairment) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์ มีผลคะแนนทดสอบด้านความจําและการตัดสินใจที่เพิ่มขึ้น หลังเข้ารับบริการดนตรีบําบัดเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ ซึ่งทางผู้เขียนได้สรุปว่า มีความเป็นไปได้ที่ดนตรีบําบัดจะช่วยชะลอการเสื่อมถอยของสมองและความจํา
ผู้สูงวัยสุขภาพดี ไม่ได้เป็นโรคอัลไซเมอร์ แต่ชอบร้องเพลงสามารถเข้ารับบริการดนตรีบำบัดได้หรือไม่ ?
“ได้” ผู้เข้ารับบริการดนตรีบำบัดไม่จําเป็นต้องมีอาการเจ็บป่วยหรือเป็นโรคใดโรคหนึ่งถึงเข้ารับบริการได้
ซึ่งตัวกิจกรรมและเป้าหมายของการบําบัดสําหรับกลุ่มผู้สูงวัยสุขภาพดีนี้ ก็จะแตกต่างไปจากดนตรีบําบัดสําหรับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ตัวอย่างเป้าหมายของการบำบัด เช่น เพื่อช่วยชะลอการเสื่อมถอยของสมองและความจำ/ลดคงาเสี่ยงการเป็นโรคอัลไซเมอร์, เพื่อส่งเสริมด้านคุณภาพชีวิต เป็นต้น ทั้งนี้เป้าหมายและรูปแบบของกิจกรรม สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของผู้เข้ารับบริการ