” Know Your Numbers ท่านทราบระดับความดันโลหิตของท่านหรือไม่??
องค์การอนามัยโลก (WHO) ขนานนามโรคความดันโลหิตสูงว่า “ ฆาตกรเงียบ หรือ Silence Killer ”
สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก กำหนดให้วันที่ 17 พ.ค. ของทุกปี เป็น” วันความดันโลหิตสูงโลก” (World Hypertension Day) โดยรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวและตระหนักเห็นความสำคัญของการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์อัมพาต โดยเน้นให้ประชาชน รู้ค่าระดับความดันโลหิตและระดับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงของตนเอง ตลอดจนการปฏิบัติตนเพื่อดูแลรักษาระดับความดันโลหิต ระดับคลอเลสเตอรอลและน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับปกติ เป็นการป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โรคหลอดเลือดสมอง(Stroke)โรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary heart disease) โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (heart attacks) ไตวาย ตาบอด เป็นต้น
ค่าความดันโลหิตปกติไม่ควรจะเกิน120 ตัวล่าง 80
ความดันโลหิตสูงระดับ 1
- ตัวบน 140-159 ตัวล่าง 90-99 ถือว่าอยู่ในภาวะความดันสูงระดับ 1 ควรพบแพทย์
ความดันโลหิตสูงระดับ 2
- ตัวบน 160-179 ตัวล่าง 100-109 ถือว่ามีความอันตรายพอสมควร ควรพบแพทย์โดยด่วน
ความดันโลหิตสูงขั้นวิกฤต
- ถือว่าเป็น Red Zone เมื่อวัดความดันได้เกิน 180/110 ผู้ป่วยอาจมีอาการหายใจหอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก ปวดหลัง รู้สึกอ่อนแรง มีความผิดปกติด้านการมองเห็น กรณีไม่มีอาการใด ๆ ดังกล่าว ให้รอประมาณ 5 นาที และวัดความดันใหม่อีกครั้ง ถ้ายังไม่ลด ควรรีบพบแพทย์ทันที
สำหรับในประเทศไทยพบตัวเลขข้อมูลอัตราการป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงต่อประชากร 1 แสนคน จากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2556-2560) มีคนเจ็บป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นจาก 12,342 คน เป็น 14,926 คน
ในส่วนของอัตราการป่วยรายใหม่ต่อประชากร 1 แสนคน ในรอบ ปี 2558-2560 ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารสุข พบข้อมูลว่า มีผู้ป่วยรายใหม่โรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นจากเดิม 916 คน เพิ่มเป็น 1,353 คน และจากรายงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายปี 2552 และ 2557 พบว่า พบความชุกของโรคของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4