โรคตับเป็นปัญหาซีเรียสที่ใครหลายคนให้ความสนใจและคุ้นหูเป็นอย่างดี เช่น โรคตับแข็ง หรือโรคมะเร็งตับเป็นต้น แต่นอกจากนั้นมีโรคตับชนิดหนึ่งที่สามารถแพร่ไปยังบุคคลใกล้ตัว ซึ่งเป็นสาเหตุในการก่ออาการและโรคอื่น ๆ ได้ คือโรคไวรัสตับอักเสบบี ในบทความนี้โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยาจึงได้รวบรวมเนื้อหาเพื่อให้ข้อมูลต่าง ๆ ได้แก่ อาการ การแพร่เชื้อ การป้องกัน วัคซีน และการรักษา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจโรคไวรัสตับอักเสบบีให้มากขึ้น
โรคไวรัสตับอักเสบบีคืออะไร ?
การอักเสบในตับอย่างรุนแรง หรือ โรคไวรัสตับอักเสบ คืออาการบวมของเนื้อเยื่อในตับเมื่อได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดต่าง ๆ ได้แก่ A B C D E ซึ่งอาการนี้จะสร้างความเสียหายต่อการทำงานของตับ และเป็นสาเหตุของโรคตับอื่น ๆ สำหรับโรคไวรัสตับอักเสบบีเป็นการอักเสบของตับจากการติดเชื้อ HBV หรือไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B Virus) โดยที่โรคไวรัสตับอักเสบบีสามารถแบ่งได้ 2 ชนิดคือ ไวรัสตับอักเสบบีเฉียบพลัน และไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง
- ไวรัสตับอีกเสบบีเฉียบพลัน เป็นการติดเชื้อที่กินระยะเวลาไม่นานมักมีอาการของโรคที่ปรากฏอย่างชัดเจน และจะหายได้เองภายใน 6 เดือน แต่หากร่างกายไม่สามารถหายได้เองก็สามารถนำไปสู่การติดเชื้อในระยะยาวหรือไวรัสตับอักเสบเรื้อรังได้
- ไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง เป็นการติดเชื้อที่กินระยะเวลานานกว่า 6 เดือน ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเพลียอย่างต่อเนื่อง หรือไม่มีอาการเลย พบได้บ่อยในผู้ที่ติดเชื้อตั้งแต่เด็กหรือทารกแรกเกิด ไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังสามารถนำไปสู่โรคตับชนิดอื่น ๆ ได้ เช่นโรคตับแข็งและโรคมะเร็งตับ
อาการของโรคไวรัสตับอักเสบบี
อาการของโรคไวรัสตับอักเสบบีเฉียบพลันมีความรุนแรงตั้งแต่เล็กน้อยถึงมาก อาการจะปรากฏประมาณ 1 ถึง 4 เดือน หลังจากได้รับเชื้อ ซึ่งโรคไวรัสตับอักเสบบีเฉียบพลันมีอาการดังนี้
- มีไข้
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้อาเจียน
- ปวดท้อง
- เหนื่อยหอบ
- ปวดข้อ
- ปัสสาวะสีเข้ม
- ผิวเหลืองและตาขาวมีสีเหลืองหรือดีซ่าน
ไวรัสตับอักเสบบีติดต่อทางไหน
ไวรัสตับอักเสบบีสามารถส่งต่อจากคนสู่คนผ่านทางเลือด น้ำอสุจิ และของเหลวในร่างกาย แต่ไม่แพร่จากน้ำลายได้ง่ายนัก ซึ่งรวมถึงการไอและจามด้วย อย่างไรก็ตามเชื้อ HBV สามารถแพร่เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ผ่าน
- การมีเพศสัมพันธ์
- การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
- การสัมผัสกับแผลเปิด
- การใช้แปรงสีฟันหรือมีดโกนร่วมกัน
- อุบัติเหตุจากของมีคมที่ปนเปื้อน
- แม่สู่ลูกในขณะคลอดบุตร
โรคไวรัสตับอีกเสบบีป้องกันได้ไหม ?
การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบีที่ดีที่สุดคือการได้รับวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งสามารถฉีดได้ตั้งแต่แรกเกิด หากยังไม่ได้รับวัคซีนสามารถป้องกันได้ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ งดใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แปรงสีฟันหรือมีดโกน
ไวรัสตับอักเสบบีรักษาหายขาดได้ไหม ?
หากติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเฉียบพลัน ภายใน 6 เดือนมักจะสามารถหายได้เอง และเมื่อหายจากโรคแล้วร่างกายจะมีภูมิต้านทานโรคโดยธรรมชาติและจะไม่เป็นซ้ำอีก แต่หากไม่สามารถหายจากโรคด้วยภูมิคุ้มกันของตัวเองได้จนพัฒนาไปเป็นการติดเชื้อไวรัสอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเป็นตลอดชีวิต ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถลดความรุนแรงได้ด้วยการรักษา การตรวจเลือดจะสามารถบอกได้ว่าร่างกายมีภูมิต้านทานหรือไม่ หรือจำเป็นต้องรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังหรือไม่
ไวรัสตับอักเสบบี เสี่ยงเป็นมะเร็งตับจริงไหม ?
โรคมะเร็งตับเป็นโรคที่เกิดจากเซลล์มะเร็งก่อตัวขึ้นภายในเนื้อเยื่อของตับ สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยเสี่ยงยกตัวอย่างเช่น โรคตับแข็ง การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และแน่นอนว่าการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง (HBV) เป็นหนึ่งในปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งตับ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบมากที่สุดในเอเชียและแอฟริกา
ทำไมถึงต้องตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบี ?
โรคไวรัสตับเสบบีโดยเฉพาะชนิดเรื้อรัง เป็นโรคที่มักไม่แสดงอาการแต่ไวรัสทำให้เกิดการอักเสบบริเวณเนื้อเยื่อตับ และที่สำคัญคือโรคนี้สามารถส่งต่อจากแม่สู่ลูกขณะคลอดบุตรได้ ในกรณีที่มีเชื้ออยู่ในร่างกายการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบจะช่วยนำไปสู่การรักษาเพื่อลดความรุนแรงของโรค และรับมือวางแผนหากผู้ที่มีเชื้อกำลังวางแผนมีลูก โดยการตรวจ HBsAg หรือ Hepatitis B Surface Antigen ซึ่งเป็นการตรวจแอนติเจนในเลือดเพื่อบ่งชี้ถึงการติดเชื้อ HBV ในร่างกาย
Reference,
Cleveland Clinic. (2022). Hepatitis B. Retrieved June 7, 2023, from https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/4246-hepatitis-b
Mayo Clinic. (2022). Hepatitis B: Symptoms & Causes. Retrieved June 7, 2023, from https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hepatitis-b/symptoms-causes/syc-20366802
National Cancer Institute. (2023). Liver Cancer: Causes and Risk Factors. Retrieved June 7, 2023, from https://www.cancer.gov/types/liver/what-is-liver-cancer/causes-risk-factors