Skip to content

การวินิจฉัย และการรักษาโรคกรวยไตอักเสบ

การวินิจฉัย

เบื้องต้นแพทย์จะวินิจฉัยจากการตรวจพบอาการเคาะเจ็บตรงบั้นเอวข้างใดข้างหนึ่ง โดยการใช้กำปั้นทุบเบาๆ ตรงบั้นเอว 2 ข้าง จะพบว่าบั้นเอวข้างที่ตรงกับไตปกติทุบไม่เจ็บ แต่ข้างที่มีกรวยไตอักเสบจะทุบเจ็บจนผู้ป่วยรู้สึกเสียวสะดุ้ง นอกจากนี้ จะพบว่าปัสสาวะมีลักษณะขุ่น แพทย์มักจะทำการยืนยันการวินิจฉัยโดยส่งปัสสาวะส่งตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะพบปริมาณเม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติ บางครั้งแพทย์อาจส่งปัสสาวะไปเพาะหาเชื้อที่ก่อโรค ในรายที่สงสัยว่าเป็น นิ่วในไต ต่อมลูกหมากโต หรือมีภาวะผิดปกติของทางเดินปัสสาวะอื่นๆ ก็อาจต้องทำการตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ เป็นต้น

การรักษา

นอกจากให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ (กรณีที่ผู้ป่วยกินไม่ได้หรืออาเจียน) แล้ว แพทย์จะให้ยาที่จำเป็นต่อการรักษาโรคนี้ นาน 14 วัน

ในรายที่มีอาการรุนแรง หรืออาเจียน กินอะไรไม่ได้ แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล จะให้น้ำเกลือ และฉีดยาปฏิชีวนะ จนกว่าอาการดีขึ้นจึงจะเปลี่ยนมาใช้ยาปฏิชีวนะชนิดกิน แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยขับเชื้อออกทางปัสสาวะ บำรุงร่างกายด้วยอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารพวกโปรตีน พักผ่อนให้เพียงพอ

หลังจากอาการทุเลาจนหายเป็นปกติแล้ว แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจปัสสาวะเป็นระยะๆ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการติดเชื้อหลงเหลืออยู่หรือกลายเป็นกรวยไตอักเสบเรื้อรัง ภาวะแทรกซ้อนที่มีอันตรายร้ายแรง ได้แก่ ภาวะไตวาย ทำให้ร่างกายขับน้ำและของเสียออกจากร่างกายไม่ได้ และภาวะโลหิตเป็นพิษ เชื้อแพร่เข้ากระแสโลหิต กระจายไปทั่วร่างกาย ซึ่งอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้

ผู้ป่วยอาจกลายเป็นกรวยไตอักเสบเรื้อรังโดยไม่รู้ตัว กล่าวคือ หลังจากหายจากอาการกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะรู้สึกแข็งแรงเป็นปกติทุกอย่าง แต่ความจริงอาจมีการติดเชื้ออักเสบของไตอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง ซึ่งจะไม่มีอาการผิดปกติให้สังเกตเห็น จำเป็นต้องทำการตรวจปัสสาวะจึงจะทราบว่าเป็นกรวยไตอักเสบเรื้อรัง หากไม่ได้ตรวจปัสสาวะและผู้ป่วยนึกว่าหายดีแล้ว ก็จะปล่อยปละละเลยไม่ได้รับการรักษากำจัดเชื้อให้หมดสิ้น ไตที่อักเสบเรื้อรังก็จะค่อยๆ เสื่อมจนกลายเป็นไตวายเรื้อรังในที่สุด ซึ่งมักจะมีความยุ่งยากในการรักษาและอาจเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์โรคไตและไตเทียม โทร.1719

ที่มา ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง