Skip to content

มหันตภัยเงียบคร่าชีวิต โรคหลอดเลือดแดงเอออร์ตาโป่งพองในช่องท้อง

เส้นเลือดแดงเอออร์ตาเป็นเส้นเลือดแดงใหญ่ที่สุดในร่างกาย อยู่บริเวณกลางอกทอดยาวลงมาถึงช่องท้อง มีหน้าที่นำส่งเลือดจากหัวใจไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ในช่องท้องมีหลอดเลือดแดงเอออร์ตา โรคที่พบเกี่ยวข้องกับหลอดเลือดนี้ เช่น โรคหลอดเลือดแดงเอออร์ตาโป่งพองในช่องท้อง (Abdominal Aortic Aneurysm หรือ AAA) เป็นโรคที่มีผนังของเส้นเลือดเอออร์ตาโป่งพองออกมามากกว่าปกติ ซึ่งมีโอกาสพบในผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มักพบในเพศชายสูงอายุที่สูบบุหรี่ หรือมีโรคร่วม เป็นโรคที่มีอันตรายมากเนื่องจากหากมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนจะพบว่ามีอาการที่มีความรุนแรงมากแล้ว หากวินิจฉัยช้าและรักษาไม่ทัน คนไข้จะเสียชีวิตทันที

อาการ

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงเอออร์ตาโป่งพองในช่องท้อง ส่วนใหญ่มักไม่พบอาการผิดปกติ มักตรวจพบได้จากการตรวจร่างกายโดยแพทย์หรือจากการตรวจภาพถ่ายรังสีหรือจากการตรวจพิเศษต่าง ๆ แต่บางคนอาจมีอาการดังนี้

  1. ปวดท้อง, ปวดหลังและสีข้าง
  2. อาจจะคลำพบก้อนในท้อง

สาเหตุ

โรคหลอดเลือดแดงเอออร์ตาโป่งพองในช่องท้อง เกิดจากภาวะหลอดเลือดแข็งตัวและมีไขมันสะสมอยู่ภายใน กลไกลการเกิดคล้ายกับโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง โดยมีปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคดังนี้

  1. การสูบบุหรื่ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้พยาธิสภาพของเส้นเลือดแดงใหญ่เสื่อม
  2. มีประวัติครอบครัว
  3. ผู้ที่มีประวัติเป็นเส้นเลือดหัวใจตีบ
  4. ผู้ที่มีประวัติหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตัน
  5. การติดเชื้อหรืออักเสบในเส้นเลือดแดงใหญ่ ซึ่งส่งผลให้ผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ไม่แข็งแรง

การวินิจฉัย

เริ่มต้นจากการซักประวัติ และตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เมื่อพบความผิดปกติในช่องท้องแพทย์จะส่งตรวจเพิ่มเติม โดยส่วนใหญ่ตรวจพบจากการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ หรืออัลตร้าซาวน์ช่องท้องด้วยโรคอื่น และตรวจพบโรคนี้โดยบังเอิญ การตรวจทางห้องปฏิบัติการนี้นอกจากจะช่วยวินิจฉัยโรคแล้ว ยังสามารถบอกขนาดและตำแหน่งของเส้นเลือดแดงที่โป่งพองได้ด้วย ทำให้ช่วยในการวางแผนผ่าตัดได้ดียิ่งขึ้น

การป้องกัน

ควรตรวจสุขภาพทุกปี แต่ถ้าอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือมีประวัติสูบบุหรี่ หรือมีปัจจัยเสี่ยงควรตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องเพิ่มเติม ซึ่งการตรวจซ้ำขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณาตามความเหมาะสม และควรลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้แก่ งดสูบบุหรี่ ควบคุมไขมัน ตรวจเช็กความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ

ตรวจสุขภาพหัวใจ

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง