เมื่อรับประทานอาหารสักมื้อหนึ่ง กระเพาะอาหารของเราก็จะทำหน้าที่สำคัญในการย่อยอาหาร ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเอนไซม์หรือน้ำย่อยสำคัญที่สร้างจากตับอ่อนเข้ามาช่วยย่อยและดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในร่างกาย ทว่าตับอ่อนของเรานั้นเป็นตำแหน่งหนึ่งที่สามารถเกิดโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งตับอ่อน และความน่ากังวลของโรคนี้มาพร้อมกับการที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ตรวจเจอโรคในระยะที่ลุกลามแล้ว ฉะนั้นในบทความนี้โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยาอยากให้ทุกคนได้รู้จักกับโรคนี้มากขึ้น หากว่ามีอาการหรือพบสัญญาณผิดปกติใด ๆ ก็ตาม จะได้ตัดสินใจไปพบแพทย์ได้อย่างทันท่วงที
ทำความรู้จักกับมะเร็งตับอ่อน
ตับอ่อนทำหน้าที่อะไร ?
ตับอ่อนเป็นอวัยวะภายในช่องท้องส่วนบน มีลักษณะคล้ายลูกแพร์วางตะแคงข้างยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ตำแหน่งค่อนไปทางด้านหลังกระเพาะอาหาร มีบทบาทสำคัญในระบบย่อยอาหารเพราะหน้าที่หลักของตับอ่อนคือการสร้างน้ำย่อยและสร้างฮอร์โมนอินซูลินที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ในภาวะปกติที่ตับอ่อนสุขภาพดี น้ำย่อยจากตับอ่อนจะย่อยสารอาหารจำพวกโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน รวมถึงวิตามินสำคัญ และฮอร์โมนอินซูลินจะช่วย้ปรับสมดุลระดับน้ำตาลในเลือด
มะเร็งตับอ่อนเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
มะเร็งตับอ่อนจะเกิดขึ้นเมื่อเซลล์ในตับอ่อนเติบโตผิดปกติ และเพิ่มจำนวนจนควบคุมไม่ได้จนเกิดเป็นเนื้องอก โดยส่วนใหญ่มะเร็งตับอ่อนมักจะเริ่มต้นที่ท่อของตับอ่อน เป็นท่อที่เชื่อมต่อกับท่อน้ำดี ในระยะแรกเนื้องอกมักจะไม่ปรากฏชัดเจน จนเมื่อเข้าสู่ระยะที่เริ่มแพร่กระจายผู้ป่วยถึงเริ่มสังเกตอาการได้และมักตรวจเจอในระยะนี้
มะเร็งตับอ่อนพบได้บ่อยแค่ไหน ?
ว่าด้วยสถิติในระดับโลก มะเร็งตับอ่อนจัดอยู่ในชนิดมะเร็งลำดับที่ 12 ที่พบได้บ่อยทั่วโลก ตามรายงานสถิติปี 2020 ของกองทุนวิจัยมะเร็งโลก (World Cancer Research Fund) ในขณะที่ประเทศไทยมีสถิติจำนวนผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนเป็นอันดับ 9 ในผู้ป่วยชาย และอันดับ 8 ในผู้ป่วยหญิง ตามรายงานทะเบียนมะเร็งระดับโรงพยาบาล ปี ค.ศ.2021 จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ
อาการของโรคมะเร็งตับอ่อน
ในระยะแรกมะเร็งตับอ่อนมักจะยังไม่ส่งผลจนก่ออาการที่ผิดปกติ จนกระทั่งโรคเข้าสู่ระยะแพร่กระจายจนส่งผลกระทบต่ออวัยวะอื่น ๆ ในระบบย่อยอาหาร อาการของโรคมะเร็งตับอ่อนจึงเกิดจากผลกระทบของอวัยวะเหล่านั้น เช่น
- ปวดในท้องบริเวณใกล้สีข้างหรือด้านหลัง
- ความอยากอาหารลดลง
- น้ำหนักลด
- ภาวะตัวเหลืองตาเหลืองหรือดีซ่าน (Jaundice)
- อุจจาระสีซีดหรืออุจจาระเหลว
- ปัสสาวะสีเข้ม
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- อาจได้รับได้รับการวินิจว่าเป็นเบาหวานที่เกิดขึ้นใหม่จากสาเหตุเฉพาะ (new-onset diabetes)
- อาจเกิดลิ่มเลือดทำให้มีอาการปวดหรือบวมในแขนและขา
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดมะเร็งตับอ่อน
การศึกษาในปัจจุบันมียังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดเซลล์มะเร็งในตับอ่อน แต่ก็มีหลาย ๆ ปัจจัยที่อาจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาโรคได้ เช่น
- อายุที่มากขึ้น โดยส่วนใหญ่มักเกิดกับคนที่อายุมากกว่า 60
- สูบบุหรี่มวน ซิการ์ รวมถึงบุหรี่ชนิดอื่น ๆ
- โรคอ้วน (Obesity)
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2 รวมถึงเบาหวานที่มีสาเหตุเฉพาะจากความผิดปกติของตับอ่อน
- ภาวะตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง (Chronic Pancreatitis)
- มีกลุ่มอาการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของยีน เช่น BRCA 1 / BRCA 2
อันตรายจากการลุกลามของมะเร็งตับอ่อน
หากเซลล์มะเร็งตับอ่อนพัฒนาไปถึงระยะแพร่กระจาย เซลล์มะเร็งมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายไปยังหลอดเลือดและต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง จากนั้นอาจลุกลามไปที่ถึงตับ เยื่อบุช่องท้องและอาจลามไปถึงปอด ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักตรวจเจอเซลล์มะเร็งในระยะที่ลุกลามแล้ว ทำให้มะเร็งตับอ่อนเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยแถมยังรักษาไม่ง่าย
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งตับอ่อน
เมื่อพบว่ามีอาการต้องสงสัยว่ามีความผิดปกติที่ตับอ่อน แพทย์จะซักประวัติเพิ่มเติมและอาจพิจารณาให้ตรวจด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น ตรวจด้วยเทคโนโลยีแสดงภาพด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) และการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ตรวจด้วยการส่องกล้องอัลตราซาวนด์ Endoscopic ultrasound (EUS) ตรวจด้วยการเจาะเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็ง ตรวจด้วยการตัดชิ้นเนื้อไปพิสูจน์มะเร็งในห้องปฏิบัติการ
ซึ่งไม่ว่าจะใช้วิธีไหนแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ป่วย เพราะแพทย์จะต้องนำผลการทดสอบมาใช้วางแผนรักษาในลำดับถัดไป
การรักษามะเร็งตับอ่อน
เมื่อแพทย์ได้อ่านผลการทดสอบ แพทย์จะสามารถบ่งบอกได้ว่าโรคมะเร็งตับอ่อนนั้นอยู่ในระยะใด และควรรักษาด้วยวิธีใดบ้าง หากโรคยังไม่ลุกลามและแพทย์พิจารณาแล้วว่าสามารถผ่าตัดได้ การผ่าตัดมักจะเป็นตัวเลือกลำดับแรก ๆ แต่หากผู้ป่วยมักตรวจเจอมะเร็งในระยะลุกลามที่ไม่สามารถผ่าตัดออกได้ แพทย์จะพิจารณาให้รักษาด้วยเคมีบำบัดและรังสีรักษาตามความเหมาะสม
สรุปส่งท้ายมะเร็งตับอ่อน
อย่างที่ได้อธิบายไว้ในหัวข้อก่อนหน้าว่าโรคมะเร็งตับอ่อนเป็นโรคที่มักตรวจเจอในระยะลุกลาม ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่จะเดินเข้ามาพบแพทย์ด้วยอาการดีซ่าน หรือ ตัวเหลือง อ่อนเพลีย น้ำหนักลดผิดปกติ ปวดท้องผิดปกติ แพทย์จึงตรวจอย่างละเอียดเพื่อแยกว่าเป็นอาการของโรคใดกันแน่ เพื่อการเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม
Reference,
Cleveland Clinic. (2023). Pancreatic Cancer. Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/15806-pancreatic-cancer
Mayo Clinic. (2023). Pancreatic cancer: Symptoms & causes. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/pancreatic-cancer/symptoms-causes/syc-20355421
World Cancer Research Fund. (2022). Pancreatic cancer statistics. https://www.wcrf.org/cancer-trends/pancreatic-cancer-statistics/
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. (ม.ป.ป.) Cancer Registry 2002-2021. National cancer institude. https://www.nci.go.th/th/cancer_record/cancer_rec1.html