การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เป็นวิธีการที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการประเมินปัญหาในลำไส้ใหญ่ โดยใช้กล้องส่องลำไส้ใหญ่ (Colonoscope) ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก ผอม ยาว และยืดหยุ่นได้ มีกล้องวิดีโอและดวงไฟขนาดเล็กมากติดอยู่ที่ปลายท่อ เมื่อทำการขยับและปรับกล้องส่องลำไส้ใหญ่อย่างเหมาะสมแล้ว แพทย์จะสามารถเคลื่อนไหวกล้องดังกล่าวในลำไส้ใหญ่ให้ไปในทิศทางที่ต้องการได้ ภาพที่กล้องบันทึกได้ในลำไส้ใหญ่จะปรากฏบนจอโทรทัศน์ ให้คุณภาพความคมชัดที่ดี และสามารถเก็บรายละเอียดภายในลำไส้ใหญ่ได้ทั้งหมด ซึ่งจะให้ความถูกต้องแม่นยำมากกว่าการทำเอกซเรย์
ประโยชน์ของการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
- ใช้ในการประเมินปัญหาที่เกิดขึ้นกับลำไส้ใหญ่ เช่น การเสียเลือด ความเจ็บปวด และอาการเปลี่ยนแปลงของลำไส้ใหญ่ เช่น ท้องเสียเรื้อรัง หรืออาการผิดปกติอื่นๆ ที่อาจตรวจพบมาแล้วจากการตรวจร่างกายก่อนหน้านี้
- บ่งชี้ให้แพทย์ทราบและช่วยในการรักษาอาการเลือดออกในลำไส้ใหญ่
- ใช้ในการตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ ลดความเสี่ยงได้ 80 เปอร์เซ็นต์และช่วยในการรักษาก้อนเนื้องอกแบบที่ไม่ใช่มะเร็ง (polyps) ที่เจริญเติบโตขึ้นที่บริเวณผนังลำไส้ใหญ่
ขั้นตอนการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
แพทย์จะฉีดยาเข้าทางเส้นเลือดดำเพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและง่วง เมื่อผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย แพทย์จะตรวจทวารหนักโดยใช้นิ้วที่สวมถุงมือและทาเจลหล่อลื่นแล้ว จากนั้นแพทย์จะทำการสอดใส่กล้องส่องตรวจเข้าไปทางทวารหนักอย่างระมัดระวัง และค่อยๆ เลื่อนกล้องเข้าไปจนถึงส่วนของลำไส้ใหญ่ตอนต้น ซึ่งในขณะที่กล้องผ่านทวารหนักเข้าไปนั้น ผู้ป่วยอาจรู้สึกเหมือนปวดอุจจาระ และเนื่องจากการสอดกล้องเข้าไปจะทำให้มีอากาศจำนวนหนึ่งไหลผ่านเข้าไปทางทวารหนัก จึงอาจทำให้เกิดอาการปวดมวนท้องหรือรู้สึกเหมือนท้องอืดได้
ระหว่างที่กล้องอยู่ในลำไส้ใหญ่แล้ว แพทย์จะสามารถเห็นสภาพภายในลำไส้ใหญ่ของผู้ป่วยได้ทั้งหมด หากแพทย์พบก้อนเนื้อที่น่าสงสัย แพทย์จะทำการตัดก้อนเนื้อเพื่อนำไปตรวจ
การเตรียมตัวเข้ารับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
• แจ้งข้อมูลให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับโรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา/สารเคมี ยาที่รับประทานเป็นประจำ และประวัติการผ่าตัด
• ทำความสะอาดลำไส้ใหญ่ ซึ่งทำได้หลายวิธี โดยส่วนใหญ่จะใช้วิธีการดื่มของเหลวเข้าไปเพื่อช่วยกระตุ้นลำไส้และถ่ายท้อง ในบางกรณีอาจมีการผสมน้ำมันละหุ่งซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาระบายให้ดื่มด้วย หรืออาจใช้วิธีอื่น เช่น การรับประทานอาหารบางชนิดเพื่อให้ถ่ายท้อง หรือการสวนทวารหนัก การเตรียมลำไส้เป็นเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เนื่องจากความสะอาดของลำไส้ใหญ่ส่งผลต่อความสำเร็จของการรักษา
• ห้ามรับประทานอาหารและเครื่องดื่มใดๆ ทั้งสิ้นภายใน 8-10 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการส่องกล้อง
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
- การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เป็นวิธีการที่มีความปลอดภัยสูง แต่ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น
- บาดแผลที่อาจเกิดขึ้นที่บริเวณผนังลำไส้ใหญ่
- ภาวะเลือดออกภายในลำไส้ในกรณีที่ตัดก้อนเนื้อไปตรวจ ซึ่งหากมีภาวะนี้เกิดขึ้นแพทย์จะทำการให้เลือดกับผู้ป่วย หรือนำกล้องออกมาจากลำไส้ก่อนเพื่อรอให้เลือดหยุดแล้วจึงใส่กลับเข้าไปใหม่
- อาการท้องอืดท้องเฟ้อ หรือปวดมวนท้องเล็กน้อยหลังรับการส่องกล้อง ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปภายใน 24 ชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้น
การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยหลังการตรวจ
หากผู้ป่วยได้รับยานอนหลับ จะต้องได้รับการเฝ้าดูอาการในห้องพักจนกว่าฤทธิ์ยาจะหมดไปอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ห้ามผู้ป่วยขับรถหลังการตรวจ ควรมีคนช่วยขับรถกลับบ้านและอยู่เป็นเพื่อนที่บ้าน เนื่องจากยานอนหลับจะมีผลต่อการตัดสินใจและปฏิกิริยาต่างๆ ของร่างกายตลอดทั้งวัน แนะนำให้ผู้ป่วยพักอยู่ในโรงพยาบาลต่อทั้งวัน