ในผนังช่องคอด้านหลังของพวกเราทุกคนมีต่อมชนิดหนึ่งชื่อว่าต่อมทอนซิล เป็นต่อมที่มีความสำคัญในการป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย แต่บางครั้งเรามักพบว่าต่อมนี้สามารถเกิดการอักเสบและก่อปัญหาสุขภาพที่อาจทำให้หลายคนลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันได้
ต่อมทอนซิลอักเสบคืออะไร ?
Tonsillitis หรือ ต่อมทอนซิลอักเสบ คือการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบริเวณต่อมทอนซิล ซึ่งต่อมทอนซิลเป็นเนื้อเยื่อที่อยู่บริเวณผนังช่องคอด้านหลังทั้ง 2 ข้าง มีหน้าที่ในการดักจับและกำจัดเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ร่างกายทางระบบทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร และจากหน้าที่ที่ต้องคอยดักจับและกำจัดเชื้อโรคนั่นเองที่อาจทำให้เกิดการสะสมไวรัสและแบคทีเรียจนเกิดอาการบวมและอักเสบได้
ต่อมทอนซิลอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่มักพบบ่อยในเด็กและวัยรุ่น สามารถหายได้เองแต่ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้เช่นกัน
อาการต่อมทอนซิลอักเสบ
เมื่อเป็นต่อมทอนซิลอักเสบอาการหลัก ๆ ที่สามารถสังเกตได้มีดังนี้
- เจ็บคอ
- กลืนอาหารลำบากจากการเจ็บคอขณะกลืน
- ต่อมทอนซิลบวมแดง
- มีเมือกขาวหรือเหลืองเคลือบบริเวณต่อมทอนซิล
- มีไข้
- ต่อมน้ำเหลืองที่คอขยายใหญ่ขึ้น
- เสียงแหบ
- ปากมีกลิ่น
- ปวดท้อง
- ปวดหัว
- ปวดคอหรือคอเคล็ด
ในเด็กบางคนที่บรรยายอาการของตนไม่เก่ง พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถสังเกตได้จากอาการ
- ไม่ยอมกินอาหาร
- น้ำลายไหลเยอะผิดปกติ เนื่องจากปัญหากลืนลำบากหรือเจ็บคอขณะกลืน
- งอแงผิดปกติ
ต้นเหตุที่ทำให้ต่อมทอนซิลอักเสบ
สาเหตุหลัก ๆ ของต่อมทอนซิลอักเสบมักมาจากการเชื้อไวรัสเป็นส่วนใหญ่ แต่ต่อมทอนซิลก็สามารถอักเสบได้จากเชื้อแบคทีเรียได้เช่นกัน
- ต่อมทอนซิลอักเสบจากไวรัส โดยส่วนใหญ่มักมาจากไวรัสชนิดเดียวกันที่ทำให้เกิดอาการไข้และหวัด อาการของต่อมทอนซิลอักเสบก็มักจะไม่รุนแรงเท่า ต่อมทอนซิลอักเสบจากแบคทีเรีย
- ต่อมทอนซิลอักเสบจากแบคทีเรีย (Strep throat) สาเหตุเกิดจากแบคทีเรีย Streptococcus กลุ่ม A มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่ง คือ คอหอยอักเสบจากเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส (Strep throat) หากเป็นทอนซิลอักเสบจากสาเหตุนี้ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะมีอาการรุนแรงกว่าจากเชื้อไวรัส
ต่อมทอนซิลอักเสบอันตรายไหม ?
โดยเบื้องต้นต่อมทอนซิลอักเสบอาจไม่ใช่อาการร้ายแรง แต่การอักเสบสามารถเป็นซ้ำและเมื่อเป็นบ่อยถึงขั้นเรื้อรังและอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาเช่น
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea)
- ฝีรอบทอนซิล (Peritonsillar Abcess)
ผลกระทบจากการติดเชื้อ streptococcus ในผู้ป่วยเด็ก
หากต่อมทอนซิลที่อักเสบนั้นเกิดจากการติดเชื้อ streptococcus ชนิด A และไม่ได้รักษาให้หายอย่างดี หรือไม่ได้ใช้ยาปฏิชีวนะให้ครบตามขนาดที่แพทย์สั่ง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นเด็กจะมีความเสี่ยงต่อความผิดปกติดังต่อไปนี้
- ไข้รูมาติก (Rheumatic fever)
- ไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever)
- ไตอักเสบ (Post-streptococcal glomerulonephritis)
- โรคข้ออักเสบหลังการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส
การรักษาต่อมทอนซิลอักเสบ
อาการแบบไหนควรพบแพทย์ ?
ต่อมทอนซิลอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งนี้หากพบว่ามีอาการ รวมถึงกรณีที่เกิดกับบุตรหลานควรพาไปพบแพทย์หากพบว่ามีอาการต่อไปนี้
- เจ็บคอ ร่วมกับมีไข้
- ภายใน 24-48 ชม. อาการไข้ไม่ดีขึ้น
- รู้สึกอ่อนเพลียหรือเมื่อยล้าเป็นอย่างมาก
แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
- หายใจลำบาก
- กลืนลำบาก
- สังเกตเห็นน้ำลายไหลมากผิดปกติในเด็ก
การรักษาต่อมทอนซิลอักเสบด้วยยาปฏิชีวนะ
การรักษาต่อมทอนซิลอักเสบขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้อักเสบ หากมีอาการรุนแรงและการวินิจฉัยบ่งบอกว่าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์อาจให้รักษาด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ แน่นอนว่าการรับประทานยาให้หมดหรือครบจำนวนที่แพทย์และเภสัชกรระบุไว้เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรตระหนักไว้เมื่อต้องการรักษาด้วยยาปฏิชีวินะไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็ตาม เพื่อป้องกันการดื้อยาในอนาคต
การบรรเทาอาการด้วยตัวเอง
เมื่อเป็นต่อมทอนซิลอักเสบแล้วอาการไม่รุนแรงนัก ปกติมักจะหายได้เอง การดูแลตัวเองที่บ้านเพื่อบรรเทาอาการจึงสามารถทำได้ด้วยวิธีต่าง ๆ สามารถทำได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เช่น
- พักผ่อนนอนหลับให้เต็มที่
- ดื่มน้ำบ่อย ๆ เพื่อให้ชุ่มคอ
- รับประทานอาหารอ่อน เช่น ซุป แกง น้ำอุ่น หรือ รับประทานอาหารเย็นเพื่อบรรเทาอาการบวมอักเสบ เช่น ไอติม หรือเยลลีแช่เย็น
- ควรปรึกษาแพทย์หากต้องการรับประทานยาลดไข้ ยาบรรเทาอาการอักเสบ
เมื่อไหร่ถึงจำเป็นต้องผ่าตัดต่อมทอนซิล ? (Tonsillectomy)
การผ่าตัดต่อมทอนซิลเป็นการรักษาอย่างหนึ่งที่แพทย์อาจพิจารณาให้คนไข้ทำการผ่าตัด โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดต่อมทอนซิลคือผู้ป่วยที่เป็นต่อมเป็นซิลอักเสบซ้ำหลายครั้งในรอบปี หรือมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกลั้น (obstructive sleep apnea) มีปัญหาในการกลืน มีปัญหาในการหายใจ เป็นต้น
ต่อมทอนซิลอักเสบป้องกันได้ไหม ?
อาจไม่สามารถกล่าวได้ว่า ต่อมทอนซิลอักเสบสามารถป้องกันได้ 100% แต่เราสามารถลดความเสี่ยงที่จะรับเชื้อด้วยการปรับพฤติกรรมเพื่อสุขอนามัยที่ดี เช่น
- ล้างมือบ่อย ๆ
- เลี่ยงการแบ่งปันอาหาร เครื่องดื่ม ขณะที่ป่วย รวมทั้งภาชนะใส่อาหารด้วย
- เปลี่ยนแปลงสีฟันทุก ๆ 3 เดือน หรือทุกครั้งที่ป่วย
สรุปส่งท้ายต่อมทอนซิลอักเสบ
การรู้สึกระคายเคืองหรือเจ็บตรงผนังช่องคอ อันมีสาเหตุมาจากต่อมทอนซิลอักเสบ เป็นภาวะที่พบได้ทั่วไป สามารถบรรเทาอาการด้วยตัวเองได้ แต่หากต้องการรับประทานยารักษาหรือพบว่าตนมีอาการรุนแรง แนะนำว่าควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและหาทางรักษาดีกว่า สว่การผ่าตัดจะถูกแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ว่าควรทำ เช่น ท่านที่มีความเสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือเป็นต่อมทอนเซิลอักเสบซ้ำหลายครั้งในรอบปี หรืออื่น ๆ ตามความเห็นและการวินิจฉัยของแพทย์
หากมีข้อสงสัยสามารถทำนัด สอบถามข้อมูลหรือปรึกษากับทีมศูนย์หู คอ จมูก ได้ที่ทุกช่องทางการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา
Reference,
Cleveland Clinic. (2023). Tonsillitis. Retrieved from https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/21146-tonsillitis
Mayo Clinic. (2022). Tonsillitis: Symptoms & Causes. Retrieved from https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/tonsillitis/symptoms-causes/syc-20378479
WebMD. (2023). Tonsillitis Symptoms, Causes, and Treatments. Retrieved from https://www.webmd.com/oral-health/tonsillitis-symptoms-causes-and-treatments