Skip to content

หัวใจสำคัญของการควบคุมเบาหวาน

นั่นก็คือ การรับประทานอาหารโดยควบคุมชนิดและปริมาณของอาหาร ให้พอดีกับความต้องการของร่างกายโดยไม่มากหรือน้อยจนเกินไป เพราะการรับประทานอาหารที่มากเกินไปจะทำให้น้ำตาลเพิ่มขึ้นสูงหรือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันหากรับประทานน้อยไป ก็อาจทำให้ระดับน้้าตาลในเลือดต่ำจนเป็นอันตรายได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการเลือกชนิดอาหาร และปริมาณที่เพียงพอเหมาะสม การแลกเปลี่ยนและการทดแทนอาหารเพื่อที่จะสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้

แนวทางการเลือกอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
ลดปริมาณพลังงาน น้ำตาล และไขมันที่รับประทาน แต่ยังคงไว้ซึ่งรูปแบบการกินอาหารที่ครบหมวดหมู่และสมดุล
เลือกบริโภคคาร์โบไฮเดรตจากแหล่งอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีทและธัญพืชไม่ขัดสีอื่นๆ ผัก ถั่ว ผลไม้ อาหารที่มีเส้นใยอาหารสูงจะย่อยช้ากว่าประเภทอื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่
ควรรับประทานผักวันละ 3-4 ทัพพีทั้งผักสดและผักสุก โดยเฉพาะผักชนิดใบ ลดการรับประทานผักที่เป็นหัวใต้ดินหรือมีแป้งสะสมเยอะ เช่น ฟักทอง หัวแครอท
ผลไม้ทุกชนิดมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ ควรเลือกทานผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ 1 ชนิดต่อมื้อ วันละ 2-3 ครั้ง แทนการกินขนมหวาน เช่น ฝรั่ง แอปเปิ้ล แก้วมังกร สตรอเบอร์รี่ ส้ม ชมพู่ สาลี่ กล้วยน้ำว้า(ห่าม) เป็นต้น
เลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกะทิ เบเกอรี่ อาหารทอดต่างๆ และเนื้อสัตว์ติดหนังติดมัน เลือกประกอบอาหารประเภทต้ม นึ่ง ย่าง อบแทนการทอด
รักษาเวลาอาหาร แต่ละมื้อให้ห่างกันประมาณ 4 – 5 ชั่วโมง กินอาหารในเวลาใกล้เคียงกันทุกวัน และไม่งดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง เลี่ยงการกินจุบจิบ
หลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลหรือแป้งสาลีขัดสี เช่น ขนมหวาน ขนมขบเคี้ยว รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีการเติมน้ำตาล ซึ่งดูดซึมเร็วและสามารถทำให้น้ำตาลกลูโคสในเลือดเพิ่มขึ้น สามารถใช้น้ำตาลเทียมใส่เครื่องดื่มและอาหารแทนการใช้น้ำตาลทรายได้
ดูแลน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สำหรับผู้ที่น้ำหนักเกิน การลดน้ำหนักลงจากเดิมร้อยละ 5 -10 (ประมาณ 3 – 10 กิโลกรัม) โดยอาจลดปริมาณอาหารลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของที่เคยกิน จะช่วยให้คุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น
การออกกำลังกายและการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้เหมาะสมจะช่วยให้น้ำหนักตัวลดลงและช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี

คุณรุ้งลดา มีแจ้ง
นักกำหนดอาหาร
แผนกโภชนบำบัด โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง