Skip to content

มะเร็งผิวหนัง: สาเหตุ อาการและการรักษา

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งผิวหนัง

ส่วนใหญ่เกิดจากรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดด และยังมีปัจจัยอื่นที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้อีกด้วย อาทิ การสัมผัสกับสารพิษอันตรายเป็นเวลานาน หรือระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ โดยปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งผิวหนังมี ดังนี้

  • มีผิวขาวซีด เนื่องจากผิวหนังมีเม็ดสีน้อยกว่า
  • อยู่กลางแดดเป็นเวลานานจนเกินไป โดยไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกัน หรือทาครีมกันแดด
  • อาศัยอยู่ในแถบที่มีแสงแดดจัด หรืออยู่ในที่สูง
  • มีไฝหรือขี้แมลงวันมากผิดปกติ
  • ในครอบครัวมีประวัติว่าเคยเป็นมะเร็งผิวหนัง หรือผู้ป่วยเคยเป็นมะเร็งผิวหนังมาก่อน
  • มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เป็นผู้ติดเชื้อ HIV
  • ได้รับรังสีที่เป็นอันตรายติดต่อกันนาน ๆ
  • มีประวัติการถูกสารเคมี เช่น สารหนู หรือสัมผัสกับสารเคมีเป็นเวลานาน ๆ

อาการและสัญญาณเตือนมะเร็งผิวหนัง

โรคมะเร็งผิวหนังมีอาการที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนัง สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และสามารถเกิดได้ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณ แขน ขา มือ ใบหน้า หรือบริเวณที่ต้องถูกแสงแดดเป็นเวลานาน ๆ ทั้งนี้อาการของมะเร็งผิวหนังจะแตกต่างกันตามชนิดของมะเร็งผิวหนังดังนี้

  • มะเร็งผิวหนังชนิดเบซัลเซลล์ อาการที่เห็นได้ชัดคือจะมีตุ่มเนื้อสีชมพู แดง มีลักษณะผิวเรียบมัน และมักจะมีเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ กระจายอยู่บริเวณตุ่มเนื้อ บางครั้งก็มีลักษณะเป็นสะเก็ดหรือเป็นขุย ตุ่มเนื้อจากมะเร็งชนิดนี้จะโตช้า และจะโตไปเรื่อย ๆ จนอาจแผลแตกในที่สุด ทำให้มีเลือดออกและกลายเป็นแผลเรื้อรัง
  • มะเร็งผิวหนังชนิดสะความัสเซลล์ อาการของมะเร็งชนิดนี้จะเริ่มต้นจากตุ่มเนื้อสีชมพู หรือแดง และด้านบนอาจมีลักษณะเป็นขุย หรือตกสะเก็ด เมื่อสัมผัสบริเวณแผลจะรู้สึกแข็ง เลือดออกง่าย แผลจะค่อย ๆ ขยายขนาดไปเรื่อย ๆ และกลายเป็นแผลเรื้อรังในที่สุด
  • มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา เนื้อร้ายที่เกิดขึ้นบนผิวหนังของมะเร็งชนิดนี้ เริ้มต้นจะมีลักษณะคล้ายกับไฝหรือขี้แมลงวัน แต่จะโตเร็ว ขอบเขตไม่เรียบและอาจมีสีไม่สม่ำเสมอ ทั้งนี้ที่บริเวณแผลอาจตกสะเก็ดหรือมีอาการเลือดออกด้วยเช่นกัน

ไฝ มะเร็งผิวหนัง

การตรวจโรคมะเร็งผิวหนัง

  • การตรวจเบื้องต้นด้วยตนเอง สามารถทำได้ด้วยการสังเกตความผิดปกติของผิวหนัง หากมีตุ่มเนื้อที่ดูผิดปกติ หรือมีแผลเรื้อรังบริเวณผิวหนังที่มักจะโดนแดดบ่อย ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจให้ชัดเจน
  • การวินิจฉัยโดยแพทย์ ด้วยการสังเกตความผิดปกติของผิวหนังอีกครั้ง หากบริเวณที่ผิดปกตินั้นมีความน่าสงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อนำตัวอย่างผิวหนังบริเวณที่ต้องสงสัยไปทำการตรวจด้วยวิธีทางพยาธิวิทยา ซึ่งเป็นวิธีที่มีความแม่นยำ

นอกจากยังมีอาการทางผิวหนังบางอย่างที่หากตรวจพบแล้ว แพทย์อาจจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในระยะก่อนมะเร็ง (Precancer) และต้องทำการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาการเหล่านี้มีความเสี่ยงที่อาจกลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้ โดยอาการทางผิวหนังที่ควรระมัดระวังมีดังนี้

  • เกิดแผลตกสะเก็ดจากการโดนแสงแดดติดต่อกันบ่อย ๆ เป็นเวลานาน
  • ตุ่มนูน ที่มีลักษณะหนาแข็ง โดยผิวหนังบริเวณฐานของตุ่มจะแดง
  • มีแผลเรื้อรังที่รักษาไม่หาย
  • มีไฝหรือขี้แมลงวันรูปร่างผิดปกติ มีขนาดใหญ่กว่าปกติ ขยายขนาดเร็ว หรือมีสีที่แตกต่างจากทั่วไป

การรักษาโรคมะเร็งผิวหนัง

วิธีการรักษาโรคมะเร็งผิวหนังจะแบ่งไปตามระยะของมะเร็งที่ตรวจพบ และชนิดของมะเร็งผิวหนังที่เป็น เนื่องจากวิธีการรักษาแต่ละชนิดจะให้ผลกับการรักษามะเร็งแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน โดยวิธีรักษามะเร็งที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีดังนี้

การขูดออกและจี้ด้วยไฟฟ้า

เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังที่มีขนาดของก้อนเนื้อมะเร็งค่อนข้างเล็ก โดยแพทย์จะทำใช้อุปกรณ์พิเศษที่มีลักษณะคล้ายกับช้อนขนาดเล็กคว้านบริเวณที่เป็นเนื้อร้ายออก จากนั้นจะนำกระแสไฟฟ้ามาจี้ที่เนื้อเยื่อโดยรอบ วิธีนี้อาจต้องทำติดต่อกัน 2 – 3 ครั้ง จึงจะสามารถนำเนื้อร้ายออกได้หมด

การรักษาด้วยการจี้เย็น

วิธีนี้ส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้กับมะเร็งผิวหนังในระยะเริ่มต้น โดยจะนำไนโตรเจนเหลวมาจี้ผิวหนังบริเวณที่เป็นมะเร็ง ผิวหนังบริเวณนั้นจะตกสะเก็ด หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือนสะเก็ดเหล่านั้นจะหลุดออก วิธีการรักษานี้อาจจะทำให้เกิดแผลเป็นสีขาวเล็ก ๆ หลงเหลือไว้ที่ผิวหนัง

การผ่าตัดผิวหนัง  

เป็นการผ่าตัดแบบมาตรฐานโดยจะทำการผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งที่อยู่บริเวณผิวหนังและเนื้อเยื่อโดยรอบออก หากบริเวณที่ผ่าตัดออกมีขนาดใหญ่ อาจนำผิวหนังจากส่วนอื่นมาปิดบริเวณแผลเพื่อทำให้แผลหายเร็วขึ้น และจะทำให้รอยแผลเป็นน้อยลงได้

New call-to-action

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง