มะเร็งผิวหนัง หมายถึงอะไร ?
มะเร็งผิวหนัง คือ เนื้อร้ายที่เกิดการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ผิวหนัง มักเกิดจากการที่ผิวหนังได้รับรังสี ultraviolet จากแสงแดด โดยเฉพาะในกรณีที่มีการได้รับซ้ำๆ หรือเป็นเวลานาน มะเร็งผิวหนังเป็นหนึ่งในมะเร็งที่สามารถรักษาได้หายขาดและได้ผลดี หากได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ
มะเร็งผิวหนังมีกี่ชนิด ?
มะเร็งผิวหนังที่พบได้บ่อย สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก
1. มะเร็งผิวหนังชนิด Basal Cell Carcinoma
- เป็นชนิดที่พบมากที่สุด เป็นอันดับ 1
- มักเกิดในบริเวณที่ได้รับแสงแดด เช่น ใบหน้าและคอ
- ส่วนใหญ่มักมีลักษณะเป็นตุ่มนูน ผิวมันวาว มีขอบยกม้วนเข้า และแตกเป็นแผลได้ นอกจากนี้ สามารถมีลักษณะเป็นปื้นแดง มีขุย หรือลักษณะคล้ายแผลเป็นได้ มักลุกลามเฉพาะที่
2. มะเร็งผิวหนังชนิด Squamous Cell Carcinoma
- พบรองลงมาเป็นอันดับ 2 รองจาก basal cell carcinoma และพบเป็นอันดับ 1 ในผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะที่รับประทานยากดภูมิ
- มักพบในบริเวณใบหน้า หู คอ แขน และมือ
- อาจมีลักษณะเป็นตุ่มนูน หรือก้อนสีเนื้อ มีแผลได้ มักลุกลามเร็วกว่า basal cell carcinoma และสามารถกระจายไปยังส่วนอื่นๆของร่างกายได้
3. มะเร็งไฝ หรือ Melanoma
เป็นชนิดที่รุนแรงที่สุด และสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายได้ เกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ melanocyte ที่ทำหน้าที่ในการสร้างเม็ดสีบริเวณผิวหนัง พบได้น้อยกว่ามะเร็ง 2 ชนิดแรก มักปรากฏเป็นจุดหรือรอยที่มีสีเข้มขึ้น หรือเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของไฝเดิม
อะไรคือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง ?
- ได้รับรังสี ultraviolet (UV) จากแสงแดด ซ้ำๆ หรือเป็นเวลานาน
- เคยใช้เตียงอาบแดดผิวแทน ตั้งแต่อายุน้อยกว่า 35 ปี
- เคยได้รับการฉายแสง
- เคยได้รับสารเคมีบางชนิด เช่น สารหนู
- คนผิวขาว ตาสีฟ้าหรือเขียว ผมแดงหรือบลอนด์ มีกระ
- มีไฝมากกว่า 100 ตำแหน่งขึ้นไป โดยหากมีไฝมากกว่า 100 ตำแหน่ง จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็น melanoma มากกว่าคนทั่วไปถึง 8-10 เท่า
- มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนัง
- สูบบุหรี่
- มีโรคทางพันธุกรรมบางชนิด ที่ทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้ง่าย เช่น xeroderma pigmentosum, โรคผิวเผือก (oculocutaneous albinism)
- มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ได้รับยากดภูมิ หรือโรคเอดส์
- มีแผลเรื้อรัง ไม่หาย
- ไวรัสหูด (Human papillomavirus)
ลักษณะอาการของมะเร็งผิวหนังเป็นอย่างไร ?
- มีตุ่มหรือก้อนนูน ที่เกิดขึ้นใหม่ หรือมีการเปลี่ยนแปลง เช่นโตขึ้น หรือแตกเป็นแผล
- มีแผลเรื้อรัง ไม่หาย
- ผื่นที่เป็นก้อนนูนขึ้น รักษาไม่หาย
- ไฝที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยลักษณะของไฝที่อาจกลายเป็นมะเร็ง มีข้อสังเกตดังนี้
A – Asymmetry คือมีรูปร่างไม่สมมาตร ไม่กลมเหมือนไฝปกติ
B – Border ขอบเขตของไฝที่ไม่สม่ำเสมอ หรือไม่ชัดเจน
C – Color สีของไฝไม่สม่ำเสมอ หรือมีหลายสีในเม็ดเดียว
D – Diameter ไฝที่มีขนาดใหญ่มากกว่า 6 มิลลิเมตร หรือใหญ่กว่าขนาดของยางลบดินสอ
E – Evolving ไฝที่มีความแตกต่างจากไฝเม็ดอื่นๆ หรือ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น โตขึ้น เปลี่ยนรูปร่างและสี มีสะเก็ด แตกเป็นแผล มีเลือดออก
วิธีการป้องกันมะเร็งผิวหนัง สามารถทำอย่างไรได้บ้าง ?
ปกป้องผิวหนังจากแสงแดด ดังนี้
- พยายามอยู่ในที่ร่ม
- หลีกเลี่ยงการออกแดด โดยเฉพาะในช่วงเวลา 10.00-14.00 น. เนื่องจากเป็นเวลาที่แดดแรงสุด
- หากจำเป็นต้องออกแดด ควรสวมหมวกปีกกว้าง สวมแว่นตากันแดด สวมเสื้อผ้าสีเข้ม แขนขายาว และกางร่มที่เคลือบสารป้องกันรังสี UV
- การทาครีมกันแดด
- เลือกครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพป้องกันครอบคลุมทั้งรัสี UVA และ UVB (Broad-spectrum sunscreens) ที่มี SPF 30 ขึ้นไป และมีประสิทธิภาพกันน้ำ
- ควรทาครีมกันแดดซ้ำระหว่างวัน โดยแนะนำให้ทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมงหากต้องออกแดด
- ปริมาณครีมกันแดดที่เหมาะสมสำหรับ 1 ใบหน้า (ไม่รวมคอ) คือ บีบครีมกันแดดมาความยาว 2 ข้อนิ้วมือ สำหรับกันแดดแบบครีม หรือขนาดเหรียญสิบบาท 1 เหรียญ สำหรับกันแดดแบบน้ำ
- ไม่ควรละเลยการทาครีมกันแดดบริเวณอื่นที่สัมผัสแสงแดดด้วย เช่น คอ หู หลัง แขน และขา
- งดสูบบุหรี่
- หมั่นสำรวจผิวหนังด้วยตนเอง หากมีตุ่มที่ผิวหนังที่น่าสงสัย ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนัง เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกต้อง
- ควรได้รับการตรวจประเมิน เพื่อคัดกรองมะเร็งผิวหนังเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือบ่อยกว่านั้น ในผู้ที่มีความเสี่ยงมะเร็งผิวหนัง หรือเคยเป็นมะเร็งผิวหนังมาก่อน
มะเร็งผิวหนังสามารถรักษาหายหรือไม่ ?
มะเร็งผิวหนังส่วนใหญ่สามารถรักษาหายได้ ด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว แต่หากมะเร็งกระจายไปส่วนอื่น จะต้องใช้เคมีบำบัดหรือการฉายแสงร่วมด้วย สำหรับการรักษาด้วยการขูดออกร่วมกับการจี้ด้วยไฟฟ้า การจี้ด้วยความเย็น หรือการทายา เช่น imiquimod หรือ 5-fluouracil จะใช้กับมะเร็งผิวหนังชนิดไม่รุนแรง และมีการลุกลามแค่ชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น
ในปัจจุบัน มีการคิดค้น การผ่าตัดมะเร็งผิวหนัง ที่เรียกว่า Mohs Micrographic Surgery (MMS) คิดค้นโดยนายแพทย์ Frederic E. Mohs ซึ่งเป็นการผสมผสานการผ่าตัดร่วมกับการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา ในคราวเดียวกัน ทำให้ให้มั่นใจว่าเอามะเร็งผิวหนังออกได้หมดหลังการผ่าตัด แม้ว่ามะเร็งจะมีขอบเขตไม่ชัด และลดการสูญเสียเนื้อเยื่อปกติบริเวณรอบๆ ถือว่าเป็นการรักษามะเร็งผิวหนังที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
References:
- Kang S., Amagai M., Bruckner A.L., Enk A.H., Margolis D.J., McMichael A.J., Orringer J.S., editors. Fitzpatrick’s Dermatology. 9th ed. McGraw Hill; New York, NY, USA; 2019.
- Bolognia JL, Jorizzo JL, Schaffer JV, editors. Dermatology. 5th ed. Elsevier; 2024.
- Krakowski AC, Hafeez F, Westheim A, Pan EY, Wilson M. Advanced basal cell carcinoma: What dermatologists need to know about diagnosis. J Am Acad Dermatol. 2022 Jun;86(6S):S1-S13.
- Fania L, Didona D, Morese R, Campana I, Coco V, Di Pietro FR, Ricci F, Pallotta S, Candi E, Abeni D, Dellambra E. Basal Cell Carcinoma: From Pathophysiology to Novel Therapeutic Approaches. Biomedicines. 2020 Oct 23;8(11):449. doi: 10.3390/biomedicines8110449. PMID: 33113965; PMCID: PMC7690754.
- https://www.aad.org/public/diseases/skin-cancer/find/mole-map
- Rigel DS, Taylor SC, Lim HW, Alexis AF, Armstrong AW, Chiesa Fuxench ZC, Draelos ZD, Hamzavi IH. Photoprotection for skin of all color: Consensus and clinical guidance from an expert panel. J Am Acad Dermatol. 2022 Mar;86(3S):S1-S8.
- Perez M, Abisaad JA, Rojas KD, Marchetti MA, Jaimes N. Skin cancer: Primary, secondary, and tertiary prevention. Part I. J Am Acad Dermatol. 2022 Aug;87(2):255-268.
- Rojas KD, Perez ME, Marchetti MA, Nichols AJ, Penedo FJ, Jaimes N. Skin cancer: Primary, secondary, and tertiary prevention. Part II. J Am Acad Dermatol. 2022 Aug;87(2):271-288.
- Henrikson NB, Ivlev I, Blasi PR, Nguyen MB, Senger CA, Perdue LA, Lin JS. Screening for Skin Cancer: An Evidence Update for the U.S. Preventive Services Task Force [Internet]. Rockville (MD): Agency for Healthcare Research and Quality (US); 2023 Apr.