ความรู้โรคมะเร็ง
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมะเร็งผิวหนัง
มะเร็งผิวหนังคือเนื้อร้ายที่เกิดบนผิวหนังและเยื่อบุ เนื่องจากความผิดปกติของการเจริญเติบโต และการแบ่งเซลล์ของผิวหนังและเยื่อบุ มะเร็งผิวหนังมีหลายชนิด ที่พบบ่อย ได้แก่
- มะเร็งผิวหนังชนิดเบเซลเซลล์ (Basal cell carcinoma) เป็นมะเร็งผิวหนังที่ร้ายแรงน้อย เพราะเกิดบริเวณชั้นตื้นๆ
- มะเร็งผิวหนังชนิดสเควมัสเซลล์ (Squamous cell carcinoma) ลักษณะคล้ายกับมะเร็งบาซอล เซลล์ คาร์ซิโนมา การลุกลามมักเร็วกว่ามะเร็งชนิด บาซอลเซลล์ คาร์ชิโนมา มักจะลุกลามลงลึกสู่ด้านล่างของเซลล์ผิวหนัง ถ้าคลำดูผิวหนังด้านล่างมักจะพบว่าเป็นก้อนแข็งๆ
- มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (malignant melanoma) เป็นมะเร็งจากเซลล์เม็ดสี เมลานิน พบไม่บ่อย แต่มีความร้ายแรง เพราะสามารถกระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้รวดเร็ว
มะเร็งผิวหนังอาจจะมีขนาดใหญ่ขึ้นช้า ๆ และลุกลามเฉพาะที่ หรืออาจจะแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นได้ด้วย เช่นต่อมน้ำเหลือง ส่วนมากจะพบในผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี (reference BPH 60 years) และพบในชายมากกว่าหญิง
อ่านบทความเพิ่มเติม มะเร็งผิวหนัง: สาเหตุ อาการและการรักษา
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนัง
- แสงอัลตราไวโอเลต (UVA, UVB) ดังนั้นผู้ที่ต้องทำงานกลางแดด เล่นกีฬากลางแจ้ง ชอบอาบแดด จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนัง
- เชื้อชาติ คนผิวขาว ผมสีบลอนด์ มีโอกาสเสี่ยงสูง เพราะมีเม็ดสีที่ผิวหนังน้อย ความสามารถในการป้องกันเซลล์ผิวหนังจากแสงอัลตราไวโอเลตจึงน้อยกว่าคนผิวคล้ำ
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนัง
- ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น HIV หรือได้รับยากดภูมิต้านทาน
- ผิวหนังในบริเวณที่เคยได้รังสีรักษา
อาการมะเร็งผิวหนังที่ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
- ดูบริเวณไฝที่เป็นว่ามีผื่นหรือก้อนที่โตเร็วกว่าปกติ หรือมีสีที่เปลี่ยนไป ขอบไม่เรียบ แตกเป็นแผล และมีเลือดออก
- มีแผลเรื้อรังที่ไม่หาย
- ผื่นเรื้อรัง
มะเร็งผิวหนังตรวจอย่างไร ?
การรักษามะเร็งผิวหนังที่ดีที่สุดคือการค้นพบตั้งแต่แรกเริ่ม โดยต้องสำรวจร่างตายตัวเองให้ทั่วซึ่งต้องใช้กระจกและมือช่วย ถ้ามีข้อสงสัย ให้ปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อการวินิจฉัย ซึ่งทำได้โดยการตัดชิ้นเนื้อบริเวณที่สงสัย ส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
การป้องกันโรคมะเร็งผิวหนัง
- หลีกเลี่ยงแสงแดด และใช้ครีมกันแดด SPF > 15
- สวมเสื้อผ้าที่มิดชิด สวมหมวกปีกกว้าง หรือกางร่ม เมื่ออยู่กลางแดด
- ควรหมั่นป้องกันแสงแดดตั้งแต่วัยรุ่นเพื่อป้องกันในระยะยาว
- หลีกเลี่ยงภาวะระคายเคืองผิวหนัง
- หมั่นสังเกตความผิดปกติของไฝหรือขี้แมลงวัน หากมีความผิดปกติ เช่น ไฝมีผื่นหรือก้อนโตเร็วกว่าปกติ สีเปลี่ยน มีแผลเรื้อรังที่ไม่หายและขยายออก หากมีอาการเหล่านี้ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
มะเร็งผิวหนังบำบัดรักษาอย่างไร ?
มะเร็งผิวหนังระยะเริ่มต้น ใช้วิธีการผ่าตัดก็สามารถหายขาดได้ แต่หากเป็นมะเร็งระยะกระจายหรือมะเร็งผิงวหนังเมลาโนมา หลังผ่าตัดอาจต้องมีการใช้การฉายแสงหรือเคมีบำบัดร่วมได้
ลักษณะที่ทำให้สงสัยว่าเป็นมะเร็งผิวหนัง
- รอยโรคที่เป็นอยู่เดิมมีรูปร่างเปลี่ยนไป เช่น ไฝที่เป็นอยู่เดิมมีลักษณะเปลี่ยนไป คือ ลักษณะของไฝสองข้างไม่เหมือนกัน, ขอบของไฝไม่เรียบ, สีของไฝไม่สม่ำเสมอ และไฝมีขนาดโตมากกว่า 6 มิลลิเมตร
- รอยโรคมีอาการปวดหรือคัน แตกเป็นแผล และมีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออก
- มีรอยโรคเกิดขึ้นใหม่และไม่หายใน 4-6 สัปดาห์
- เป็นแผลเรื้อรังไม่หายภายใน 4 สัปดาห์
การคัดกรองมะเร็งผิวหนังในระยะเริ่มต้นด้วยตัวเองเบื้องต้น
- สังเกตการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่เป็นก้อนนูนที่โตขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือขยายขนาดอย่างรวดเร็ว อาจมีอาการปวดหรือไม่ปวดก็ได้
- มีก้อนที่ผิวหนัง และมีแผลเกิดขึ้น หรือมีเลือดออกง่าย
- มีแผลเรื้อรังที่รักษาไม่หาย หรือมีแผลใหม่ที่เกิดขึ้นบริเวณที่เป็นแผลเป็น หรือบริเวณแผลไฟไหม้มาก่อน
- สังเกตถึงรอยโรคสีดำหรือสีน้ำตาลที่ขอบเขต รอยอาจไม่ชัดเจนและมีแผลเกิดขึ้น
- ไฝมีการเปลี่ยนแปลงของรูปร่าง สีมีการเปลี่ยนแปลงเช่น มีสีขาวเกิดขึ้น หรือมีสีน้ำตาลดำไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น ไฝมีแผลเกิดขึ้น หรือมีเลือดออกง่าย โดยเฉพาะบริเวณมือและเท้าในคนเอเชีย
- ผื่นเรื้อรังมีการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเนื้อนูนขึ้นมา หากค้นพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงบริเวณผิวหนังดังกล่าว ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการที่ถูกต้อง เพื่อวางแผนหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
hbspt.cta.load(21386471, ‘e4bc6bc2-856c-4c0b-b6eb-e295a5739f0b’, {“useNewLoader”:”true”,”region”:”na1″});