ปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้
- รับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง อาหารฟาสต์ฟู้ด หรืออาหารที่ผ่านการปิ้งย่างจนไหม้เกรียมเป็นประจำ และกินอาหารที่มีเส้นใยไฟเบอร์น้อย
- ผู้ที่ชอบดื่มเหล้า สูบบุหรี่
- ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย การเคลื่อนไหวน้อย(ลำไส้บีบตัวน้อยกว่าปกติ)
- มากกว่า 90% ของมะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดในคนที่อายุมากกว่า 50 ปี
- มีประวัติเคยเป็นมะเร็งลำไส้ หรือเคยมีติ่งเนื้อในลำไส้
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ หรือเคยมีติ่งเนื้อในลำไส้
- มีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย เช่น ลำไส้อักเสบ ท้องผูกเรื้อรัง ภาวะลำไส้แปรปรวน หรือโรคโครห์น (Crohn’s disease)
อาการ/สัญญาณเตือนโรคมะเร็งลำไส้
- น้ำหนักลดลงอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะรับประทานอาหารในปริมาณเท่าเดิม
- ลักษณะของอุจจาระเปลี่ยนไป อาจมีขนาดเล็กลง หรือมีเลือดออกมาปะปนด้วย
- ท้องผูก และท้องเสียสลับกันบ่อยผิดปกติ หรืออาจมีอาการท้องผูกเรื้อรัง
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ บ่อยผิดปกติ และมักมีอาการปวดบริเวณท้องช่วงล่าง
- คลื่นไส้ อาเจียน ความอยากอาหารลดลง เพราะเมื่อมีก้อนเนื้ออยู่ในลำไส้ การทำงานของลำไส้จะช้าลง ส่งผลให้ไม่รู้สึกหิว
- เกิดอาการอ่อนเพลียผิดปกติ เพราะการสูญเสียเลือดจากการที่มีเลือดออกในลำไส้เนื่องจากเนื้องอก จะส่งผลให้เกิดความอ่อนเพลีย ซึ่งถ้าหากเสียเลือดมากเกินไปอาจถึงขั้นช็อกได้
- โลหิตจางโดยไม่ทราบสาเหตุ
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งลำไส้
- จากการซักประวัติและตรวจร่างกายรวมถึงการตรวจโดยการใช้นิ้วตรวจทางทวารหนัก ร่วมกับการใช้อุปกรณ์กล้องขนาดสั้น เรียกว่า Proctoscope เพื่อตรวจดูว่ามีก้อนเนื้อแปลกปลอมอะไรหรือไม่
- ตรวจหาเลือดในอุจจาระ นำตัวอย่างอุจจาระที่ได้ส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งถ้าหากมีเลือดปนอยู่ในอุจจาระก็แปลว่าภายในระบบทางเดินอาหารอาจมีเลือดออก แพทย์ก็จะส่งตัวให้ไปทำการตรวจอย่างละเอียดในขั้นต่อไป
- การส่องกล้อง เพื่อตรวจวินิจฉัยเพื่อตรวจดูลำไส้ใหญ่ทั้งหมด เรียกว่า Colonoscopy
- การกลืนสีหรือแป้ง เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถตรวจหาก้อนเนื้อได้ก็คือการกลืนสารทึบรังสี แล้วเอกซเรย์เพื่อดูความผิดปกติของลำไส้ใหญ่
- การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ หากพบความผิดปกติของลำไส้หลังจากเอกซเรย์ หรือขณะที่กำลังส่องกล้อง แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ ถ้าหากใช่แพทย์ก็จะวางแผนสำหรับการรักษาต่อไป
การรักษามะเร็งลำไส้
- การผ่าตัด ถือเป็นวิธีการรักษาเบื้องต้นของโรคมะเร็ง โดยแพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเนื้อมะเร็งออกโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจาย ส่วนใหญ่แล้วหากเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งในระยะเริ่มแรกจะใช้วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว โดยจะผ่าตัดนำลำไส้ส่วนที่เสียออกแล้วนำลำไส้ที่เหลือมาต่อกัน แต่ถ้าหากส่วนที่เป็นมะเร็งนั้นอยู่ใกล้ทวารหนักก็อาจมีการตัดทวารหนักทิ้ง และให้ผู้ป่วยใช้การอุจจาระผ่านทางหน้าท้อง จากนั้นแพทย์ก็จะทำการติดตามผลอย่างใกล้ชิดจนมั่นใจว่าจะไม่มีการกลับมาเป็นซ้ำอีก แต่ถ้าหากผู้ป่วยอยู่ในระยะที่ 2 ขึ้นไป ก็จะเพิ่มการรักษาด้วยรังสีหรือเคมีบำบัดตามมาหลังการผ่าตัดด้วยเพื่อให้ ทำลายเซลล์มะเร็งให้หมด ไม่ให้หลงเหลือจนเกิดมะเร็งซ้ำ
- รังสีรักษา เป็นการรักษาที่ใช้รังสีทำลายเซลล์มะเร็งในบริเวณที่เกิดโรค วิธีนี้สามารถลดขนาดของก้อนเนื้อมะเร็ง และทำลายเซลล์มะเร็งได้เกือบทั้งหมด ทำให้สามารถผ่าตัดได้ง่ายขึ้น โดยการใช้รังสีรักษาจะทำได้ทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด แต่ปัจจุบันนี้แพทย์นิยมให้ใช้การรักษาด้วยรังสีก่อนการผ่าตัด เนื่องจากได้ผลที่ดีกว่า แต่การให้รังสีหลังผ่าตัดก็สามารถป้องกันการเกิดซ้ำของโรค และลดการนำลำไส้มาเปิดไว้ที่หน้าท้องได้เช่นกัน
- เคมีบำบัด การรักษาด้วยวิธีนี้จะใช้ร่วมกับการผ่าตัด โดยผู้ป่วยหลังจากได้รับการผ่าตัดแล้วก็จะต้องได้รับยาเคมีบำบัดเพิ่มเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่ ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาแบบนี้จะต้องเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในระยะที่ 2 เป็นต้นไป หรือมีก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ การใช้เคมีบำบัดสามารถเพิ่มโอกาสรอดของผู้ป่วยได้มากเลยทีเดียว ขณะที่ในบางรายที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ การรักษาด้วยเคมีบำบัดก็จะกลายเป็นการรักษาหลัก เพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจาย ลดความทรมานจากมะเร็ง แต่จะไม่สามารถทำให้หายขาดได้
Post Views: 4,766