สวัสดีครับคุณพ่อ คุณแม่ ทุกท่านที่กำลังเตรียมพร้อมสำหรับการมีสมาชิกใหม่ในครอบครัว รวมถึงคุณพ่อ คุณแม่ที่ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่มาสักพักแล้ว หลายท่านอาจมีข้อสงสัยว่านอกจากกิจกรรมในการเลี้ยงดูพื้นฐาน เช่น ป้อนนม เปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำแล้ว เราจะสามารถมีกิจกรรมอื่นเพิ่มเติมให้เจ้าตัวน้อยได้อีกหรือไม่ หรือจะเล่นกับเจ้าตัวน้อยได้อย่างไรบ้าง
วันนี้เราจะมานำเสนอหนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจ ที่คุณพ่อ คุณแม่สามารถเสริมให้เจ้าตัวน้อยได้ตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งกิจกรรมนี้มีชื่อว่า “Tummy time”
Tummy time คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร ทำไมถึงควรให้เจ้าตัวน้อยมีช่วงเวลา Tummy time เริ่มทำ Tummy time ได้เมื่อไร และต้องระวังอะไรบ้าง
ในปัจจุบัน จะมีคำๆหนึ่งเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาการของเจ้าตัวน้อยที่เรียกว่า Tummy time หรือการที่เราให้เจ้าตัวน้อยนอนคว่ำ ในขณะตื่นโดยมีผู้ใหญ่อยู่ดูแลใกล้ชิดตลอดเวลา
ประโยชน์ของ Tummy Time
ในปัจจุบันสมาคมกุมารแพทย์แห่งอเมริกา หรือ American Academy of Pediatrics (AAP) ได้แนะนำให้ทารกควรมีช่วง Tummy time เนื่องจากการที่ทารกได้มีช่วงเวลานอนคว่ำจะมีประโยชน์ดังนี้
- การกระตุ้นกล้ามเนื้อ: ทารกที่ได้นอนคว่ำจะมีโอกาสได้ฝึกการชันคอ ซึ่งเป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อคอ และอกส่วนบน
- การกระตุ้นการมอง: ทารกที่ได้นอนคว่ำจะมีโอกาสได้เห็นโลกในมุมมองที่ต่างออกไป รวมถึงจะได้เห็นภาพเคลื่อนไหวการการยกศีรษะขึ้นลง
- ป้องกันภาวะศีรษะแบน
ช่วงเวลาของ Tummy time
สามารถทำได้ตั้งแต่เจ้าตัวน้อยออกจากโรงพยาบาล โดยเริ่มต้นจากวันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 3-5 นาที จากนั้นสามารถเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ โดยเริ่มเพิ่มระยะเวลาเมื่อผู้ปกครองสังเกตเห็นว่าเจ้าตัวน้อยคุ้นเคยกับท่านอนคว่ำ และมีความสุขที่ได้เล่น ได้ทำสิ่งที่แตกต่างในท่าใหม่
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทารกทุกคนที่จะชอบท่านอนคว่ำตั้งแต่เริ่มต้น ทารกบางคนอาจรู้สึกอึดอัด ไม่สบาย ร้องไห้ หรือ แสดงสีหน้าไม่พอใจ ในสถานการณ์แบบนี้ผู้ปกครองสามารถช่วยเจ้าตัวน้อยได้โดยการ หาผ้าที่ไม่หนามากมารองที่หน้าอก เพื่อให้การชันคอทำได้ง่ายขึ้น หาของเล่นสีสันสดใสมาดึงดูดความสนใจขณะนอนคว่ำ (สามารถชักชวนให้ทารกเงยขึ้น ลง ด้วยการใช้ของเล่นล่อได้ด้วย ถือเป็นการเล่นกับเจ้าตัวน้อยอีกวิธีหนึ่ง) หรืออาจพักการนอนคว่ำไปก่อนซัก 2-3 วัน แล้วค่อยเริ่มต้นใหม่
ข้อควรระวังของ Tummy time
ก่อนอื่นเราขอเน้นย้ำว่าท่านอนที่ปลอดภัยที่สุดของทารก คือท่านอนหงาย เนื่องจากเป็นท่าที่มีโอกาสเกิดทางเดินหายใจอุดกั้น และ SIDS (Sudden infant death syndrome) น้อยกว่าท่านอนคว่ำ และนอนตะแคง
ดังนั้นการให้ทารกนอนคว่ำจึงมีข้อควรระวัง ดังนี้
- ควรให้ทารกนอนคว่ำในช่วงที่ทารกตื่นตัว โดยต้องมีผู้ใหญ่คอยดูแลตลอดเวลา
- หลีกเลี่ยงการนอนคว่ำในเด็กที่คลอดก่อนน้ำหนด น้ำหนักน้อย หรือมีปัญหาเจ็บป่วย
- บริเวณที่ทารกนอนคว่ำควรเป็นที่ราบไม่เอียง ไม่แข็ง หรือนุ่มจนเกินไป
เป็นอย่างไรกันบ้างกับข้อมูลกิจกรรม “Tummy time” ขอให้คุณพ่อ คุณแม่ทุกคนมีความสุขไปกับทุกช่วงกิจกรรมที่ทำไปพร้อมกับเจ้าตัวน้อยนะครับ สุดท้ายนี้ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ปกครองทุกท่านในการดูแลเจ้าตัวน้อย สมาชิกใหม่ของบ้านครับ
ทางเรามีความยินดีในการเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลเจ้าตัวน้อยให้ครบในทุกมิติ
“More than Vaccination” เราเชื่อว่าคลินิกเด็กดี ต้องมีมากกว่าการให้วัคซีน
แหล่งอ้างอิง
Caring for Your Baby and Young Child: Birth to Age 5; American Academy of Pediatrics, Tanya Remer Altmann, MD, FAAP, David L. Hill : 2019
Heading Home With Your Newborn: From Birth to Reality; Laura A. Jana, MD, FAAP, Jennifer Shu, MD, FAAP: 2005
AAP – Back to Sleep, Tummy to Play Brochure