เป็นที่ทราบกันดีว่า สาเหตุที่สำคัญของมะเร็งปอดคือการสูบบุหรี่ การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดจึงมักทำในคนที่สูบบุหรี่ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่มีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ อาจเป็นเพราะมะเร็งปอดมักไม่ส่งสัญญาณเตือนในระยะแรก กว่าผู้ป่วยจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการแล้วซึ่งเป็นระยะที่มะเร็งแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายแล้ว ทำให้การรักษาเป็นไปได้ยาก และส่วนใหญ่จะเสียชีวิตในที่สุด ในทางกลับกัน การตรวจพบมะเร็งปอดได้ตั้งแต่ในระยะแรก โอกาสรักษาให้หายขาดได้จะมีสูงถึง 90%
ในปัจจุบันการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดสมารถทำได้ด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (low-dose computed tomography, LDCT) ซึ่งการตรวจนี้เป็นวิธีการถ่ายภาพสามมิติที่ให้ความละเอียดมากกว่าการเอกซเรย์ธรรมดา ซึ่งจะช่วยให้ตรวจความผิดปกติได้ละเอียดกว่า สามารถตรวจหาก้อนมะเร็งได้อย่างชัดเจนแม้ก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็ก หรือถูกบดบังโดยอวัยวะส่วนอื่น นับว่าเป็นวิธีที่มีความไวและความละเอียดมากกว่าการตรวจเอกซเรย์ปอดแบบธรรมดาที่ใช้ในการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งจะตรวจพบความผิดปกติได้เฉพาะก่อนมะเร็งที่มีขนาดใหญ่ และไม่ถูกบดบังโดยหัวใจ กระดูก หรือตามซอกมุมต่าง ๆ ในปอดเท่านั้น
และการศึกษาทางคลินิกก็พบว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดระยะเริ่มต้น (Low-Dose CT Chest) สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดได้สูงถึงร้อยละ 20 ในคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด เนื่องจากการตรวจพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น ขณะที่ยังไม่แสดงอาการใด ๆ นั้น มีโอกาสรักษาหายได้มากกว่า โดยที่ผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีจากการตรวจ น้อยกว่าการตรวจด้วยวิธีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบมาตรฐาน (Computed Tomography (CT) –Chest)
ข้อดี
- สะดวก สามารถตรวจได้ทันที ไม่ต้องงดน้ำงดอาหาร ใช้เวลาตรวจไม่นาน
- มีความปลอดภัย เนื่องจากปริมาณรังสีที่ใช้ต่ำ
- สามารถตรวจพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นได้ดีกว่าการตรวเอกซเรย์ปอด (Chest x-ray) และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดได้ดีกว่า
ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจ และได้รับประโยชน์สูงสุดจากการตรวจ
- ผู้ที่มีอายุ 50-80 ปี มีประวัติสูบบุหรี่ ตั้งแต่ 20 แพ็คต่อปีขึ้นไป (เฉลี่ยวันละ 1 มวน) และปัจจุบันยังสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง หรือหยุดสูบบุหรี่มาแล้ว แต่น้อยกว่า 15 ปี
- ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด จะมีความเสี่ยงสูงแม้ไม่ได้สูบบุหรี่
- ผู้ที่ได้รับสารพิษจากสิ่งแวดล้อม การได้รับควันบุหรี่ สารกัมมันตรังสี ฝุ่น ไอระเหยจากโลหะต่าง ๆ
- ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้รับสารพิษเช่น แร่ใยหิน (Asbestos) ติดต่อกันเป็นเวลานาน
ผู้ที่ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงข้างต้น และอาจได้รับประโยชน์จากการตรวจ
- ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวสูบบุหรี่
- ผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และไม่มีประวัติเป็นโรคมะเร็งใดๆ มาก่อน
การตรวจนี้ไม่เหมาะสำหรับ
- ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนที่จะมีบุตร
หมายเหตุ : สำหรับผู้ที่เป็นมะเร็งปอด หรือมะเร็งชนิดอื่น ๆ ซึ่งรักษาหายแล้ว แต่น้อยกว่า 5 ปี หากจำเป็นต้องได้รับการตรวจ ควรตรวจด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบมาตรฐาน เพื่อการวินิจฉัย (CT-Chest)**
ข้อควรทราบ
- ผลการตรวจที่ผิดปกติ ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ โดยแพทย์จะให้คำแนะนำที่เหมาะสมแก่ท่าน
- ผลการตรวจที่ผิดปกติ ไม่สามารถรับรองได้ว่า ในอนาคตท่านจะไม่เป็นมะเร็งปอด ข้อแนะนำท่านควรมีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดทุก 1 ปี
การเตรียมตัวและขั้นตอนการตรวจ Low Dose CT Chest
- ไม่จำเป็นต้องงดอาหาร เจาะเลือด ไม่ต้องฉีดสารทึบรังสี สามารถตรวจได้เลย
- เปลี่ยนชุดสำหรับตรวจ นอนบนเตียงตรวจในเครื่อง CT
- กลั้นหายใจระหว่างการตรวจประมาณ 30 วินาที
- ใช้เวลาตรวจประมาณ 15 – 20 นาที