การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ทำได้โดยการค้นหาปัจจัยเสี่ยง และควบคุมรักษาปัจจัยเสี่ยง นั่นคือ ควรวัดความดันโลหิตเป็นระยะ และหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้รู้ว่ามีความผิดปกติอะไรในร่างกาย ไม่เพียงเท่านี้ ควรปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิตสูงให้คงที่ด้วย เช่น ออกกำลังกาย งดกินเค็มเลี่ยงรสจัด กินอาหารไขมันต่ำ ลดการบริโภคแอลกอฮอล์ และหากมีอาการผิดปกติ เช่น แขนอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดลำบาก ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด รวมทั้งควรตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ เพื่อตรวจหาความเสี่ยง เพราะอาจเกิดลิ่มเลือดในหัวใจหลุดเข้าไปอุดตันในหลอดเลือดสมองได้
ขณะที่อีกหนึ่งวิธี คือ การตรวจสอบความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยการทำอัลตราซาวด์หลอดเลือดคอ (carotid duplex ultrasound) เพื่อตรวจภาวะการอุดตันของหลอดเลือดบริเวณคอ ซึ่งเป็นหลอดเลือดที่สำคัญที่ไปเลี้ยงสมอง หรือ MRI เป็นการถ่ายภาพเอกซเรย์สมองด้วยสนามแม่เหล็กที่สามารถให้รายละเอียดของสมองได้ดีและชัดเจนมากยิ่งขึ้น บอกได้ว่าหลอดเลือดอุดตันและเนื้อสมองที่ตายเกิดมานานหรือยัง การรักษาสามารถช่วยให้เนื้อตายกลับฟื้นมาใหม่ได้หรือไม่ แถมยังตรวจสภาพหลอดเลือดได้อย่างดี โดยไม่ต้องฉีดสีเข้าร่างกายด้วย และอีกหนึ่งวิธีคือ การถ่ายภาพสมองด้วยคอมพิวเตอร์ (CT scan) ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเฉียบพลัน มาถึงโรงพยาบาลภายใน 3 ชั่วโมงแรกที่มีอาการ ว่าสมองมีเลือดออก หรือขาดเลือดไปเลี้ยง
จากข้อมูลที่กล่าวไปข้างต้น…ถึงเวลาแล้ว ที่ต้องทุกคนต้องหันมารักตัวเองให้มากขึ้น ด้วยการควบคุมระดับความดันเลือดให้เป็นปกติ กินอาหาร และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงไปพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติตามลักษณะอาการที่กล่าวไปข้างต้น เช่น แขนขาอ่อนแรง พูดผิดปกติ ตาพร่ามัว ปวดศีรษะ วิงเวียน ยืนไม่อยู่
นอกจากนี้ แม้ว่า โรคหลอดเลือดสมองอุดตันหรือตีบ จะเกิดกับกลุ่มคนที่มีอายุมากเป็นส่วนใหญ่ แต่สำหรับโรคนี้ ถึงไม่แก่ แต่ถ้ามีพฤติกรรมเสี่ยง ก็สามารถเกิดโรคได้เช่นกัน ดังนั้นอย่าละเลยอาการวูบโดยเด็ดขาด เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคหลอดเลือดสมองได้ และถ้าไปพบแพทย์ช้าเกินไป อาจทำให้เสียชีวิตได้ ปัญหาสุขภาพมีค่าเกินกว่าที่คุณจะมองข้ามไปสามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่ศูนย์สมองและระบบประสาท รพ.กรุงเทพพัทยา หรือโทร.1719
ที่มา ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ
Post Views: 2,263