การฟื้นฟูสมรรถภาพสมรรถภาพของผู้ป่วยภายหลังจากการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
นอกจากที่ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาทางยาที่เหมาะสมจากแพทย์แล้ว กายภาพบำบัดเป็นอีกหนึ่งการรักษาที่สำคัญและมีบทบาทอย่างยิ่งที่จะช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและป้องกันภาวะแทรกซ้อนให้กับผู้ป่วย โดยการรักษาทางกายภาพบำบัดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองนั้นจะประกอบไปด้วย
การออกกำลังกายเพื่อป้องกันข้อต่อยึดติด : ช่วงแรกของการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง อาจมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ขาดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ เมื่อไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นเวลานาน จะส่งผลให้ข้อต่อยึดติด และเมื่อเวลาผ่านไปสมองที่ถูกทำลายฟื้นตัวจำให้ผู้ป่วยไม่สามารถขยับข้อต่อส่วนนั้นได้ นักกายภาพบำบัดจึงจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยการออกกำลังกายให้แก่ผู้ป่วย
การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ : หลังจากผ่านช่วงแรกของการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยมักจะมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อตามมา โดยการเกร็งของกล้ามเนื้อนี้ จะส่งผลให้กล้ามเนื้อของผู้ป่วยหดรั้ง สูญเสียความยืดหยุ่นตามปกติไป นักกายภาพบำบัดจึงจำเป็นจะต้องให้การรักษาด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อลดอาการเกร็งและเพื่อความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อ สำหรับเตรียมความพร้อมในการออกกำลังกายต่อไป
การดัดและขยับข้อต่อเพื่อเพิ่มมุมการเคลื่อนไหว : ในกรณีที่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองไม่ได้ขยับร่างกายเป็นเวลานานหรือไม่ได้ยืนเดินลงน้ำหนัก และไม่ได้รับการฟื้นฟูที่เหมาะสมตามอาการของโรค จะมีผลทำให้ข้อต่อของผู้ป่วยยึดติดไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ ผู้ป่วยจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการขยับข้อต่ออย่างถูกต้องและเหมาะสมโดยนักกายภาพบำบัด เพื่อให้ข้อต่อสามารถเคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อ : ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะมีภาวะอ่อนแรงของกล้ามเนื้อครึ่งซีก ผู้ป่วยจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องได้รับการกระตุ้นกล้ามเนื้อให้ทำงานอย่างถูกต้อง และการออกกำลังการที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันหรือช่วยเหลือตัวเองได้ใกล้เคียงปกติและปลอดภัยที่สุด
การฝึกการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน : ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก ส่งผลให้กล้ามเนื้อสองด้านของร่างกายทำงานไม่สมดุลกัน ทำให้การขยับเคลื่อนไหว เปลี่ยนท่าทางยากลำบากมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องทำการฝึกทางกายภาพบัดที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด เช่น การฝึกพลิกตะแคงตัว, การเปลี่ยนท่าทางจากท่านอนมานั่งข้างเตียง, การฝึกลุกขึ้นยืน เพื่อเตรียมพร้อมในการฝึกเดินต่อไป
การฝึกการทรงตัว : ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีความเสี่ยงที่จะล้มง่าย เนื่องจากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะมีการอ่อนแรงของกลุ่มกล้ามเนื้อที่ใช้ในการทรงตัว และในบางรายมีการสูญเสียความรู้สึกไป ทำให้ประสิทธิภาพในการทรงตัวหรือการรักษาความมั่นคงให้กับร่างกายน้อยลง การฝึกการทรงตัวในท่านั่ง ท่ายืน หรือท่าเดิน จึงมีส่วนช่วยสร้างความมั่นคงให้กับผู้ป่วยและลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจากการล้มได้
การฝึกเดิน : ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองการเดินเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะการเคลื่อนไหวแบบทดแทน เช่น เดินยักสะโพก ผู้ป่วยต้องได้รับการวิเคราะห์ปัญหา เพื่อนำไปสู่การฝึกฝนและการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาเดินได้อย่างปลอดภัยและใกล้เคียงปกติมากที่สุด
การฝึกหายใจ : ผู้ป่วยบางรายอาจมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อกลุ่มที่ช่วยในการหายใจร่วมด้วย ทำให้ผู้ป่วยหายใจได้ไม่ลึก และเหนื่อยง่าย ผู้ป่วยจึงควรได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องในการฝึกการหายใจ
สำหรับระยะเวลาที่เหมาะสมในการทำกายภาพบำบัด คือ หลังจากที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการคงที่ สมควรให้เริ่มทำกายภาพบำบัดได้ ซึ่งในช่วง 3-6 เดือนแรกหลังจากเป็นโรคหลอดเลือดสมอง จะเป็นช่วงที่ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วที่สุด เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของสมองในส่วนที่เสียหาย ร่วมกับการฝึกการเรียนรู้การเคลื่อนไหว หลังจากนั้นการฟื้นตัวจะช้าลง เมื่อสมองฟื้นตัวแล้ว ก็จะเข้าสู่ระยะที่มีการปรับตัวของเซลล์สมองที่เหลืออยู่ ซึ่งพบว่ากากได้รับการฝึกที่ถูกต้องและเหมาะสม สมองสามารถพัฒนาไปได้อีกถึง 7 ปี แต่ในทางกลับกัน หากผู้ป่วยได้รับการฝึกที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม การฟื้นตัวหลังจากนั้นจะช้าลง ไม่ใช่เพราะผลจากสมอง แต่เป็นสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างร่างกายและความเคยเคยชินที่ทำให้ไม่สามารถพัฒนาการเคลื่อนไหวให้ดีขึ้น การแก้ปัญหาการเคลื่อนไหวก็จะกลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆตามระยะเวลาดังกล่าว
การดูแลของสมาชิกในครอบครัว/ผู้ดูแล
การมีส่วนร่วมของครอบครัวมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยครอบครัวหรือผู้ดูแลจะต้องมีความรู้ความเข้าใจและทักษะที่ถูกต้องในการดูแลผู้ป่วยเพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บ มีความอดทน เข้าใจในสภาวะร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย และให้กำลังใจเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง รวมถึงอาหารรสเค็มจัด
- ควบคุมน้ำหนัก
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- งดสูบบุหรี่
- ในกรณีที่มีโรคประจำตัว ควรพบแพทย์และรับประทานอย่างสม่ำเสมอเพื่อความคุมอาการ