เป็นการผ่าตัดโดยการเติมแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เข้าในช่องท้อง และใช้ชุดเครื่องมือผ่าตัดชนิดพิเศษร่วมกับกล้องวิดิโอส่องผ่าตัด สอดเข้าไปในช่องท้อง โดยมีแผลผ่าตัดขนาดเล็กจำนวน 2-4 แผล ขนาด 5-12 มม. และดมยาสลบร่วมกับใส่ท่อช่วยหายใจโดยวิสัญญีแพทย์ ขณะผ่าตัด กล้องวิดิโอจะทำหน้าที่นำภาพอวัยวะในช่องท้องที่มีความคมชัด ความละเอียดสูง ถ่ายทอดออกมาให้แพทย์ได้เห็นทางจอโทรทัศน์ และแพทย์จะทำการผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือพิเศษต่างๆ เช่น คีมจับเนื้อเยื่อ กรรไกร เครื่องจี้เนื้อเยื่อด้วยไฟฟ้าระบบไบโพล่าร์ เครื่องจี้ห้ามเลือดและตัดเนื้อเยื่อด้วยไฟฟ้าระบบแอดวานซ์ไบโพล่าร์ เครื่องมือจี้ปิดเส้นเลือดและตัดเส้นเลือดเลือดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งสามารถใช้ผ่าตัดมดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ เช่น ในโรคเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก โรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ถุงน้ำในรังไข่ชนิดต่างๆ การตั้งครรภ์นอกมดลูก ภาวะพังผืดในอุ้งเชิงกราน เป็นต้น
ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้อง
- ผู้ป่วยมีแผลผ่าตัดขนาดเล็กแตกต่างจากการผ่าตัดด้วยวิธีเดิม ขนาดแผลที่เกิดขึ้นยาวประมาณ ขนาด 5-12 มม.รวม 2-4 แผลที่ผนังหน้าท้อง (ขึ้นกับชนิดของโรค ความรุนแรงของโรค ความยากง่ายในการผ่าตัด และความเหมาะสมตามดุลพินิจแพทย์)
- เนื่องจากแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ความเจ็บปวดหลังผ่าตัดจะมีน้อยกว่าวิธีผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องแบบเดิมมาก ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวดชนิดแรง หลังผ่าตัดเมื่อรู้สึกตัวดีและไม่คลื่นไส้อาเจียน สามารถรับประทานอาหารอ่อนและยาแก้ปวดธรรมดาได้ตามต้องการ เมื่อผู้ป่วยไม่เวียนศีรษะสามารถลุกเดินได้ ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ภายใน 1-2 วันหลังการผ่าตัด
- ผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้ภายใน 1วันหลังการผ่าตัด สามารถปฏิบัติกิจวัตรส่วนตัวได้ด้วยตนเอง มีความสะดวกสบายมากขึ้นและสามารถออกจากโรงพยาบาลไปพักฟื้นที่บ้านได้เร็วขึ้นกว่าเดิม ส่วนใหญ่พักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 1-3 วันหลังจากผ่าตัด
- ไม่ต้องหยุดงานนานเหมือนกันวิธีเดิม ผู้ป่วยพักฟื้นที่บ้านเพียง 1-2 สัปดาห์ สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ
- การเกิดพังผืดและภาวะแทรกซ้อนจากพังผืดหลังผ่าตัดพบน้อยกว่าวิธีผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง เนื่องจากการรบกวนเนื้อเยื่อ การทำให้เนื้อเยื่อชอกช้ำขณะผ่าตัดเกิดขึ้นน้อยกว่า
- ด้วยคุณสมบัติการขยายภาพสัญญาณระบบ HD ของกล้องวิดิโอที่ใช้ผ่าตัด และเครื่องมือผ่าตัดพิเศษ เช่น เครื่องจี้เนื้อเยื่อด้วยไฟฟ้าระบบไบโพล่าร์ เครื่องจี้ห้ามเลือดและตัดเนื้อเยื่อด้วยไฟฟ้าระบบแอดวานซ์ไบโพล่าร์ เครื่องมือจี้ปิดเส้นเลือดและตัดเส้นเลือดเลือดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ทำให้การผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชโดยส่วนใหญ่มักเสียเลือดขณะผ่าตัดน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ลดโอกาสการต้องรับเลือดหลังผ่าตัด
- การเกิดพังผืดและภาวะแทรกซ้อนจากพังผืดหลังผ่าตัดพบน้อยกว่าวิธีผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง เนื่องจากการรบกวนเนื้อเยื่อ การทำให้เนื้อเยื่อชอกช้ำขณะผ่าตัดเกิดขึ้นน้อยกว่า
- โอกาสที่แผลผ่าตัดจะติดเชื้อต่ำกว่าวิธีผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
- เป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมาก ผนังหน้าท้องหนามากๆ
ข้อด้อยของการผ่าตัดผ่านกล้อง
- ไม่สามารถใช้การผ่าตัดชนิดนี้ได้กับผู้ป่วยทุกราย เช่น ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่มาก หรือมะเร็งนรีเวชบางประเภท อาจจะไม่สามารถใช้วิธีการผ่าตัดส่องกล้องได้
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น กระบังลมรั่ว โรคปอดหรือโรคหัวใจชนิดรุนแรง ไม่สามารถใช้การผ่าตัดส่องกล้องได้
- ผู้ป่วยมีพังผืดในช่องท้องหรืออุ้งเชิงกรานชนิดรุนแรง เช่น ผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคติดเชื้อในช่องท้องหรืออุ้งเชิงกรานมาก่อน ผู้ป่วยที่เคยได้รับการผ่าตัดช่องท้องมาหลายครั้ง เป็นต้น
- ใช้เวลาในการผ่าตัดนานกว่าวิธีผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
- บางครั้งการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชอาจจะไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตรวจประเมินสถานการณ์ไว้ก่อนผ่าตัด ในบางกรณีเมื่อส่องกล้องสำรวจในช่องท้อง หากพบว่าพยาธิสภาพของโรคเป็นรุนแรง เครื่องมือที่ใช้ไม่สามารถเข้าถึงจุดที่จะทำการผ่าตัดได้อย่างสะดวก หรือพบว่า ไม่สามารถผ่าตัดผ่านกล้องได้จากพังผืดที่รุนแรง หรือมีโอกาสเสี่ยงจะเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังจากที่คนไข้ดมยาสลบ ใส่แก๊สในช่องท้อง และนอนศีรษะต่ำแล้ว จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีผ่าตัดเป็นแบบเปิดหน้าท้องแทน
โรคที่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง
- โรคที่ทำให้เกิดการปวดท้องน้อยเรื้อรัง
- โรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
- โรคเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก (Fibroid or myoma uteri)
- โรคถุงน้ำในรังไข่หรือท่อนำไข่ชนิดต่างๆ รวมถึงถุงน้ำรังไข่ในสตรีที่ตั้งครรภ์
- ตั้งครรภ์นอกมดลูก
- การทำหมันแห้ง
- ภาวะมีบุตรยาก และการวินิจฉัยท่อนำไข่
- มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะ เริ่มแรก
ผลแทรกซ้อนหลังผ่าตัด
การผ่าตัดใดๆ เพื่อการรักษาโรคนั้นมีความเสี่ยงอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย ในกรณีการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชเองก็มีโอกาสพบภาวะแทรกซ้อนได้เช่นกัน เช่น
- ภาวะแทรกซ้อนที่ไม่รุนแรง ได้แก่ มีอาการปวดไหล่หน่วงๆ คล้ายปวดเมื่อย พบได้บ่อย เนื่องจากแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เติมเข้าสู่ช่องท้องไปดันกระบังลม อาการเหล่านี้สามารถบรรเทาได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวดและจะหายกลับเป็นปกติภายใน 1-2 วันหลังผ่าตัด
- การเสียเลือด โดยส่วนมากการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชจะเสียเลือดน้อย แต่ก็อาจพบมากขึ้นในกรณีผ่าตัดเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก หรือเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ชนิดรุนแรง ซึ่งอาจจำเป็นต้องให้เลือดในบางราย
- การบาดเจ็บต่ออวัยวะอื่นๆในช่องท้อง พบไม่บ่อยแต่มีความรุนแรงได้ เช่น เส้นเลือดใหญ่ ลำไส้ใหญ่ กระเพาะปัสสาวะ ท่อไต ซึ่งเกิดจากพยาธิสภาพของโรค ความรุนแรงของโรค หรืออุบัติเหตุจากเครื่องมือจี้ไฟฟ้าที่ใช้ในการผ่าตัด หากแพทย์สามารถวินิจฉัยพบในขณะผ่าตัด มีความจำเป็นต้องผ่าตัดเปิดหน้าท้องเพื่อเย็บซ่อมอวัยวะที่บาดเจ็บดังกล่าว บางกรณีไม่สามารถวินิจฉัยได้ทันที ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดซ่อมในภายหลังโดยวิธีการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง
- การชาของเส้นประสาทบริเวณผนังหน้าท้องจากแผลผ่าตัด หรือการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อบริเวณขาจากการจัดท่าขึ้นขาหยั่งและการกดทับเส้นประสาทบริเวณขาในขณะผ่าตัด
- ผนังช่องคลอดที่เย็บปิดกรณีผ่าตัดมดลูก ปริแยก พบได้บ่อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดทางหน้าท้อง ในบางรายอาจมีไส้เลื่อนออกมาทางช่องคลอด จำเป็นต้องผ่าตัดเย็บซ่อมและปิดผนังช่องคลอด
- ก่อนที่ผู้ป่วยจะตัดสินใจเลือกรับการผ่าตัดชนิดใด ขอให้ทำการศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนตัดสินใจรับการผ่าตัด เพราะการผ่าตัดแต่ละชนิดย่อมมีความเสี่ยง
*** สอบถามเพิ่มเติมที่ ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา โทร 0 3825 9999