Skip to content

อันตรายของโรคลมชักในเด็ก

โรคลมชัก เป็นปัญหาที่พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย โดยมีอุบัติการณ์เกิดขึ้นประมาณ 1% ของประชากรในประเทศไทย โรคลมชักไม่ใช่โรคติดต่อ เป็นโรคที่มีสาเหตุจากหลายๆ ชนิด อาจจะถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ขึ้นกับชนิดของการชัก นอกจากนี้โรคลมชักยังพบได้ในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะในเด็กวัยเรียน มีข้อมูลว่าเด็กในโรงเรียน 1000 รายจะสามารถพบเด็กที่ป่วยเป็นโรคลมชักได้ถึง 6 ราย (reference 1) นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กอายุตั้งแต่ 6-17 ปีที่ป่วยเป็นโรคลมชักมีโอกาสที่จะขาดเรียนตั้งแต่ 11 วันหรือมากกว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา (reference 2)

ซึ่งโรคลมชักจะส่งผลกระทบทางตรงต่อการเรียนรู้ ความคิด จินตนาการ การพัฒนาทางสมอง อีกทั้งทางด้านการเล่นการทำกิจกรรมเข้ากับเพื่อนๆซึ่งหากขาดความเข้าใจอาจเกิดผลกระทบต่อเด็กในอนาคต ฉะนั้นความเข้าใจในเรื่องของโรคลมชักในเด็กวัยเรียนนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก มิใช่เฉพาะบุคคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยโดยตรงแต่ยังรวมถึงคนในครอบครัวและโรงเรียน เช่นคุณครู เพื่อนๆที่ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันอยู่ในสังคมโรงเรียน ทั้งการเล่นและการเรียนเป็นส่วนใหญ่ หากได้รับความเข้าใจทุกภาคส่วนที่ถูกต้องตั้งแต่ระยะแรกๆ การดูแลรักษาก็สามารถที่จะทำให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดต่อผู้ป่วยซึ่งส่วนใหญ่จะสามารถรักษาให้หายได้

อาการชักเกิดขึ้นเนื่องจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าภายในสมอง โดยมีการนำของกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติ ก่อให้เกิดอาการชักตามมา โดยถ้ากระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติเกิดขึ้นรบกวนสมองเป็นบางส่วนจะทำให้เกิดอาการชักเฉพาะที่ โดยที่ยังรู้ตัวอยู่ แต่ถ้ามีอาการเหม่อลอยหมดสติทำอะไรโดยไม่รู้ตัว เรียกว่าอาการชักแบบเหม่อ แต่ถ้ากระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติเกิดขึ้นรบกวนสมองทั้งสองข้างจะทำให้เกิดอาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัวหรือชักแบบแน่นิ่งที่พบบ่อยในเด็ก

อาการและอาการแสดงของอาการชักในเด็ก

  1. เหม่อ นิ่ง ตา จ้องมองแบบไร้จุดหมาย ไม่ตอบสนองต่อคนรอบข้าง สิ่งแวดล้อม
  2. มีอาการกระพริบตาถี่ ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ มักเกิดขึ้นหลังจากอาการ เหมาอ นิ่ง
  3. มีอาการ สั่นเกร็ง กระตุก ของ กล้ามเนื้อ ใบหน้า แขน ขา
  4. มีอาการเกร็ง แข็ง ของลำตัว แขน ขา
  5. วูบ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว กะทันหัน
  6. มีอาการสับสน จำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ ในช่วงที่มีอาการชัก หรือ คล้ายชัก
  7. นอนหลับลึกหลับนาน ปลุกตื่นยาก หรือหากปลุกตื่นขึ้นมามักมีอาการสับสน มึนงง
  8. เริ่มมีปัญหา ด้านการเรียน ความจำ สมาธิ ถดถอยลง หรือมีปัญหาด้านการใช้ภาษา
  9. มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้าน อารมณ์ การเข้ากลุ่มกับ เพื่อนๆ ในแง่สูญเสียความมั่นใจ หรือมีภาวะซึมเศร้า

สาเหตุของโรคลมชักโดยเฉพาะในเด็กวัยเรียน

  1. แผลเป็นในสมอง ที่เกิดจากการได้รับบาดจ็บตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา แรกคลอด ภาวะคลอดยาก สมองขาดออกซิเจนเป็นเวลานาน อุบัติเหตุต่อสมอง การติดเชื้อในสมอง ชักขณะไข้สูงในวัยเด็กที่นานหรือติดต่อกันหลายๆ ครั้ง
  2. โรคทางพันธุกรรม
  3. ภาวะมีก้อนในสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง พยาธิในสมอง
  4. โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ หรือแตกหรือตีบตัน
  5. กว่า 50% ยังไม่พบสาเหตุแน่ชัด

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยโรคลมชักโดยอาศัยข้อมูลของลักษณะชักที่ได้จากเด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครองและผู้พบเห็นผู้ป่วยขณะชัก (ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต ปัจจุบัน ประวัติครอบครัว) การตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจคลื่นสมอง (EEG) บางครั้งการวินิจฉัยอื่นๆ อาจมีความจาเป็น เช่น การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กสมอง (MRI) การตรวจคลื่นสมองพร้อมวิดีโอ 24 ชั่วโมง การตรวจสมองเชิงลึกโดยใช้สารกัมมันตรังสี (SPECT) หรือการตรวจ PET Scan เพื่อตรวจหาจุดต้นกำเนิดพยาธิสภาพในสมองที่ทำงานผิดปกติ

การรักษาโรคลมชักในเด็ก

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคลมชัก ในทางการรักษาเราจะเน้นหาสาเหตุ เพื่อแก้ปัญหาหรือรักษาให้หายขาด
โดยทั่วไปแล้วดรคลมชักมักใช้การรักษาด้วยวิธีการรับประทานยากันชักเป็นอย่างแรก อย่างไรก็ตามแพทย์จะทำการรักษาและหาสาเหตุควบคู่กันไป หากพบสาเหตุและเป็นสาเหตุที่แก้ไขได้ ก็จะแนะนำผู้ป่วย ให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่วมกันกับแพทย์และทีมดูแลรักษาเพื่อประโยชน์สูงสุด เช่น พบก้อนเนื้องอกสมอง หรือรอยโรคจากแผลเป็นในสมองด้วยสาเหตุใดๆก็ตาม หากการรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัด แพทย์จะประเมินผู้ป่วย เตรียมความพร้อม ให้คำแนะนำ เพื่อได้แนวทางที่ผู้ป่วยและครอบครัว หรือผู้ปกครองได้รับประโยชน์สูงสุด ผลข้างเคียงน้อยที่สุด และเหมาะสมกับข้อจำกัดด้านต่างๆ ด้วย

 

References:

  1. Russ SA, Larson K, Halfon N. A national profile of childhood epilepsy and seizure disorder. 2012;129:256–264. DOI: 10.1542/peds.2010-1371.
  2. Pastor PN, Reuben CA, Kobau R, Helmers SL, Lukacs S. Functional difficulties and school limitations of children with epilepsy: findings from the 2009–2010 National Survey of Children with Special Health Care Needs. Disabil Health J. 2015. DOI: 10.1016/j.dhjo.2014.09.002.
  3. Division of Population Health, National Center for Chronic Disease and Health Promotion, May 29, 2019

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง