Skip to content

การติดเชื้อไมโครพลาสมา อาการคล้ายหวัด แต่อันตรายกว่า

Mycoplasma Pneumoniae เป็นเชื้อแบคทีเรียขนาดเล็ก ไม่มีผนังเซลล์ เป็นแบคทีเรียชนิด Facultative Anaerobe มีชีวิตแบบ free living ก่อโรคได้ในคน 

เชื้อไมโครพลาสมา แพร่ระบาดและติดต่อทางไหนได้บ้าง ?

โดยแพร่กระจายผ่านทางละอองฝอยขนาดใหญ่ เช่น การไอหรือจาม มีระยะฟักตัวนานประมาณ 2-3 สัปดาห์ ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่างทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กวัยเรียน ผู้ที่ติดเชื้อสามารถแสดงอาการได้หลากหลาย ตั้งแต่อาการไม่รุนแรงคล้ายโรคหวัดไปจนถึงโรคหลอดลมอักเสบและปอดอักเสบ

นอกจากนี้บางรายยังพบอาการแสดงชนิดนอกปอดได้ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สมองอักเสบ ข้ออักเสบ อาการทางผิวหนัง และเยื่อบุอักเสบ

การตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อไมโครพลาสมาใช้เวลากี่วัน ?

สำหรับการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัย ได้แก่ การส่งตรวจทางระบบภูมิคุ้มกันเพื่อตรวจวัดระดับ M. Pneumoniae specific immunoglobulin IgM และ IgG antibodies ในเลือด โดย IgM มักตรวจพบภายหลังจากแสดงอาการ 7 วัน และคงอยู่ได้ยาวนานหลายเดือน การวินิจฉัยจึงมักใช้การเจาะเลือด 2 ครั้งห่างกัน 7-14 วัน เพื่อดูการเพิ่มขึ้นของระดับ IgG ในเลือด โดยยืนยันการติดเชื้อเมื่อระดับ IgG สูงขึ้นจากเดิม 4 เท่า นอกจากนี้ยังมีการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ ได้แก่ PCR-DNA ซึ่งจะมีความไวร้อยละ 65-100 และมีความจำเพาะอยู่ที่ร้อยละ 90-100 ซึ่งสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่แสดงอาการ และตรวจพบได้ยาวนานหลายสัปดาห์หลังหายจากการเจ็บป่วยแม้ได้รับยาปฏิชีวนะ จึงเป็นข้อพิจารณาในการแปลผลร่วมกับอาการแสดงในการวินิจฉัยโรค

ไมโครพลาสมารักษาได้อย่างไร ?

การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างสามารถให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Macrolides ได้แก่ Azithromycin, Erythromycin หรือ Clarithromycin ส่วนเชื้อที่มีการดื้อยากลุ่ม Macrolides จะพิจารณาให้ยาในกลุ่ม Fluoroquinolones หรือ Doxycycline ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการน้อยไม่รุนแรงสามารถหายได้เอง ผู้ป่วยที่หายจากอาการเจ็บป่วยแล้วพบว่ายังสามารถมีเชื้ออยู่ในร่างกายได้นานหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือนโดยไม่แสดงอาการ และภูมิคุ้มกันของร่างกายที่เกิดภายหลังการติดเชื้อเป็นเพียงภูมิระยะสั้นเท่านั้น

ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อแนะนำป้องกันการแพร่กระจายโรคทางละอองฝอยโดยการใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือตลอดช่วงที่แสดงอาการ

สอบถามเพิ่มเติมที่ ศูนย์กุมารเวช รพ.กรุงเทพพัทยา โทร. 0 3825 9986


กุมารเวชศาสตร์โรคติดเชื้อ

ศูนย์กุมารเวช  โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง