การตรวจสมรรถภาพปอด (Pulmonary Function Tests) เป็นการตรวจที่สำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่งในกระบวนการวินิจฉัย ประเมินและติดตามผลการรักษาโรคระบบการหายใจ เช่น โรคหืด, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, โรคปอดจากการทำงาน เป็นต้น นอกจากนี้การตรวจสมรรถภาพปอด ยังสามารถบ่งถึงการเสื่อมของการทำงานของปอดก่อนที่อาการแสดงทางคลินิกจะเริ่มปรากฏ เนื่องจากปอดเป็นอวัยวะที่มีความสามารถสำรองสูง อาการเหนื่อยจึงมักปรากฏหลังจากพยาธิสภาพในปอดเกิดขึ้นมากแล้ว โดยการตรวจสมรรถภาพปอดเป็นการตรวจที่ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยอย่างมากในการออกแรงเป่าอย่างเต็มที่ (maximal effort) การสูดลมและการเป่าต้องทำ ทางปากซึ่งไม่ใช่สิ่งที่คุ้นเคยสำหรับคนส่วนใหญ่ นอกจากนั้นจังหวะในการสูดลมและการเป่ามีความสำคัญมากเช่นเดียวกัน ผู้ควบคุมการตรวจ (technician) จึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจ ความชำนาญ และประสบการณ์ ในการตรวจ ผลการตรวจจึงจะเป็นที่น่าเชื่อถือ
วิธีสไปโรเมตรีย์(Spirometry)
เป็นการตรวจวัดปริมาตรและอัตราการไหลของอากาศที่หายใจเข้าและออกจากปอด โดยให้ผู้ป่วยใช้แรงหายใจเข้าและออกให้สุดลมหายใจผ่านเครื่องสไปโรมิเตอร์ (Spirometer) ในบางรายต้องมีการตรวจหลังการสูดยาขยายหลอดลมซ้ำอีกรอบ เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของหลอดลม โดยความผิดปกติที่ตรวจพบ จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม
- Obstructive หมายถึง มีการอุดกั้นของหลอดลม เช่น ในผู้ที่เป็นโรคหืด โรคถุงลมโป่งพองจากการสูบบุหรี่ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
- Restrictive หมายถึง ความยืดหยุ่นของปอดลดลง ทำให้ความจุของปอดลดลง เช่น ผู้ที่มีโรคของเนื้อปอด ผู้ที่โครงสร้างกล้ามเนื้อ หรือกระดูกที่ช่วยในการหายใจผิดปกติ
- Combine หมายถึง ผู้ที่ตรวจพบมีความผิดปกติทั้ง 2 อย่างร่วมกัน
ใครบ้างที่ควรได้รับการตรวจสมรรถภาพปอดเป็นประจำทุกปี
- ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีควันบุหรี่ สารเคมี หรือฝุ่นละออง
- ผู้ที่มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น อาการหายใจลำบาก อาการเหนื่อย อาการไอหายใจมีเสียงวี๊ด
- ผู้ที่ทำงานในพื้นที่อับอากาศ การทำงานบนที่สูง ซึ่งต้องอาศัยระบบการทำงานของระบบหายใจที่มีประสิทธิภาพ
- ผู้ที่ทำงานสัมผัสสารเคมีที่มีผลต่อสมรรถภาพปอด
- ผู้ที่ต้องสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นหรือสารเคมีชนิดแนบแน่น เช่น N95
เตรียมตัวอย่างไรก่อนไปตรวจสมรรถภาพปอด
- ไม่ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีก่อนการตรวจ
- ไม่สูบบุหรี่อย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนการตรวจ
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันที่มีการตรวจ
- ควรงดยาขยายหลอดลมตามที่แพทย์แนะนำ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อหนักอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนตรวจ
- หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่รัดบริเวณทรวงอกและหน้าท้อง
ข้อห้ามในการทำ Spirometry
- ไอเป็นเลือด
- ภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอดที่ยังไม่ได้รับการรักษา
- ระบบหลอดเลือดหรือหัวใจทำงานไม่คงที่ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ที่ยังไม่ได้รับการรักษา หรือควบคุมได้ไม่ดี ความดันโลหิตต่ำ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือลิ่มเลือดอุดตันในปอดที่เพิ่งหาย
- เส้นเลือดแดงโปง (Aneurysm) ในทรวงอก ท้อง หรือสมอง
- เพิ่งได้รับการผ่าตัดตา เช่น ผ่าตัดลอกต้อกระจก
- เพิ่งได้รับการผ่าตัดช่องอกหรือช่องท้อง
- ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเช่น วัณโรคปอดระยะติดต่อ
- สตรีมีครรภ์ (ยกเว้นในบางรายที่จำเป็น)
ภาวะแทรกซ้อนจาก Spirometry
แม้ว่าการตรวจ Spirometry จะเป็นการตรวจที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่อาจพบภาวะแทรกซ้อนได้บ้าง ดังต่อไปนี้
- ความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เป็นต้น
- เวียนศีรษะ มึนงง และในบางรายอาจมีอาการหมดสติได้
- อาการไอ
- หลอดลมตีบ โดยเฉพาะในผู้ป่วยหืดหอบ หรือปอดอุดกั้นเรื้อรังที่ยังควบคุมอาการได้ไม่ดี
- เจ็บหน้าอก
- ภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด
- ขาดออกซิเจนจากการหยุดให้ชั่วคราวระหว่างการตรวจ
- การติดเชื้อ
คำแนะนำการปฏิบัติตัวก่อนตรวจ
- งดใช้ยาขยายหลอดลม (ยาพ่นชนิดออกฤทธิ์สั้น เช่น Ventolin, Berodual อย่างน้อย 4 – 6 ชั่วโมง และยารับประทานและยาพ่นชนิดออกฤทธิ์ยาว เช่น Seretide, Symbicort, Spiriva อย่างน้อย 12 ชั่วโมง ) โดยขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์
- หลีกเลี่ยงอาหารมื้อใหญ่อย่างน้อย 2 ชั่วโมง โดยที่ไม่ต้องงดน้ำและอาหาร ก่อนตรวจ
- ไม่ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีก่อนตรวจ
- ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่รักทรวงอกและท้อง
- วัดส่วนสูง ชั่งน้ำหนัก
- นำฟิล์มเอกซเรย์ปอดมาด้วยถ้ามี
- มาก่อนแพทย์นัด ครึ่งชั่วดมง ถึง หนึ่งชั่วโมง