Skip to content

หูอื้อ หูดับ

หูเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย เป็นที่ตั้งของอวัยวะรับเสียงเพื่อการได้ยิน เป็นอวัยวะเพื่อการทรงตัว ถ้าเราไม่สามารถได้ยินชัดเจน มีอาการหูอื้อ เราจะไม่อาจพูดคุยติดต่อสื่อสารและเข้าสังคมได้ตามปกติ ถ้ามีอาการเวียนหัว บ้านหมุน คลื่นไส้อาเจียน หรือหูดังมีเสียงรบกวนด้วยจะยิ่งทรมาน การหาสาเหตุของโรคและการให้การรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ สาเหตุของโรคอาจเป็นจากหูเอง หรือจากประสาทเกี่ยวข้อง หรือโรคทางสมอง หรืออาจมาจากโรคทางกายหลายๆอย่างที่เป็นต้นเหตุก็ได้ ถ้าเด็กเกิดใหม่มีการเสียการได้ยินตั้งแต่แรกเกิด ถ้าเป็นรุนแรงจะไม่อาจพูดได้ ทำให้ไม่อาจพัมนาตนเองและไม่อาจศึกษาเล่าเรียนได้อย่างเด็กปกติ และอาจเป็นใบ้

มารู้จักหูกันดีกว่า ว่าได้ยินและทรงตัวอย่างไร

หูมีส่วนประกอบ 3 ส่วน ทำงานร่วมกันเป็นอวัยวะในการฟังเสียงและการทรงตัว ได้แก่ หูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน

หูชั้นนอก

เป็นส่วนที่มองเห็นได้ชัด ประกอบด้วยใบหูและช่องหู ทำหน้าที่รวมเสียงและส่งคลื่นเสียงไปยังแก้วหู ซึ่งจะสั่นสะเทือน รวบรวมพลังเสียง ส่งต่อไปยังหูชั้นกลางและหูชั้นใน ในหูชั้นนอกมีต่อมขี้หู และต่อมไขมัน

หูชั้นกลาง

ประกอบด้วยกระดูก 3 ชิ้น ได้แก่ ค้อน ทั่ง โกลน ลอยตัวอยู่ในอากาศทำหน้าที่คล้ายเครื่องทุ่นแรง กระดูกทั้ง 3 ชิ้นนี้ช่วยรับการสั่นสะเทือนจากแก้วหูไปยังหูชั้นในโดยอาศัยพลังกลและด้วยอัตราส่วนต่างระหว่างพื้นที่ของแก้วหู และฐานกระดูกโกลนในอัตรา 20:1 ระดับความดันอากาศในหูชั้นกลางปรับโดยท่อต่อระหว่างหูชั้นกลางและหลังโพรงจมูกให้เท่าบรรยากาศเสมอ

หูชั้นใน

ประกอบด้วยกระดูกรูปหอยโข่ง (Cochlea) ขดกันสองรอบครึ่ง เป็นที่อยู่ของปลายประสาทรับการได้ยิน รับความถี่ของเสียงตั้งแต่เสียงแหลมไปเสียงทุ้ม และติดต่อกับอวัยวะรับรู้การทรงตัวรูปครึ่งวงกลม 3 อัน ตั้งฉากซึ่งกันและกัน รับรู้การเคลื่อนไหวของศีรษะในท่าต่างๆ ปลายประสาทการได้ยินและการทรงตัวส่งกระแสไปตามก้านสมองไปสู่สมองเพื่อรับรู้

โรคของหูที่ทำให้หูอื้อ หูดับ

ปัญหาที่พบโดยทั่วไปของหูและการได้ยิน

  1. ช่องหูชั้นนอกตีบแคบ (Atresia)
  2. ขี้หูอุดตันช่องหู (Impact Cerumen)
  3. การติดเชื้อในช่องหู หูอักเสบ (Ext.Otitis)
  4. แก้วหูทะลุ (Pertorated Eardrum)
  5. การติดเชื้อในโพรงหูชั้นกลาง หูน้ำหนวก (Otitis Media)
  6. ท่อปรับแรงดันในหูชั้นกลางตันจากหวัดภูมิแพ้
  7. โรคของหูชั้นใน (Meniere’s Disease)
  8. โรคของเส้นประสาทรับเสียง (Sudden Hearing Loss)
  9. โรคของสมอง เนื้องอก (Schwannoma,Tumour)
  10. การไหลเวียนกระแสโลหิตบกพร่อง (Abnormal Circulation)
  11. หูตึงเมื่อเข้าวัยชรา (Ageing Hearing Loss)

โรคหูที่ควรสนใจ

กลุ่มอาการมีเนีย (Meniere’s Syndrome)

คือความผิดปกติของหูชั้นในที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุเป็นการมีน้ำคั่งในหูชั้นใน อาการ คือ หูจะอื้อ หูตึง อย่างกระทันหันและทรงตัวไม่ได้ การดูแลรักษาความผิดปกติของหูชั้นในเช่นนี้แก้ไขให้ดีขึ้นได้ และถ้าไม่รักษาจะเป็นมากขึ้น

หูตึงเฉียบพลัน (Suddien Hearing Loss)

หลายคนหูตึงได้อย่างเฉียบพลัน (ปกติเป็นหุข้างเดียว) โดยจะมีการหูอื้อทันที นับเป็นอาการฉุกเฉินที่ต้องรีบรักษาทันที หรือยิ่งกว่านั้นอาจต้องเข้าโรงพยาบาล เพื่อป้องกันไม่ให้หูตึงถาวร สาเหตุอาจมาจากเชื้อไวรัส หรือหลอดเลือดแตก หรือเยื่อหูชั้นในชำรุด แตก หรืออาจมีเหตุจากโรคทางกายบางอย่าง

หูตึงจากเนื้องอกในสมอง (Schwannoma)

บางคนหูตึงข้างเดียวอย่างช้าๆ เป็นมากขึ้นทุกที อาจมีเสียงรบกวนในหู ในสมอง และอาการเดินเซในระยะเวลาต่อมา จะต้องนึกถึงเนื้องอกในหูชั้นในซึ่งอาจโตเข้าสมองต้องรับการตรวจโดยแพทยืผู้เชี่ยวชาญด่วน

หูตึงจากโรคทางกาย

โรคทางกายหลายๆอย่าง อาจทำร้ายหูชั้นในและทำให้เกิดหูตึง เสียการทรงตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคไตวาย โรคคอหอยพอก หรือไทรอยด์เป็นพิษ การดูแลรักษาทำได้ด้วยการตรวจเลือดและรักษาตามโรค

การตรวจพิเศษ

  • การตรวจการได้ยินแบบพิเศษ (Bekesy)
  • การตรวจการเดินและการทรงตัว (Posturogarphy)
  • การตรวจประสาทหูชั้นในโดยการทำ Caloric test
  • การทำ Positioning test
  • การตรวจการเคลื่อนไหวผิดปกติของตาด้วย VNG
  • การตรวจการทำงานของก้านสมองด้วย Brainstem Electrical Response Audiometer (BERA)

สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่ศูนย์หู คอ จมูก รพ.กรุงเทพพัทยา หรือโทร.1719

รักษาหูคอจมูก

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง