Skip to content

รู้จักลักษณะของมะเร็งเต้านม 4 ระยะ และวิธีการรักษาที่ทำได้

รักษามะเร็งเต้านม

ระยะของโรคมะเร็งเต้านม

  • ระยะเริ่มแรก (ระยะที่ 1) คือ ระยะที่ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก (เล็กกว่า 2 เซนติเมตร) และยังไม่มีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้หรือมีการลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองแล้วเพียงเล็กน้อยระดับเซลส์เท่านั้น ระยะนี้จะมีโอกาสรักษาให้หายขาดจากโรคสูงและผลการรักษาดีมากที่สุด
  • ระยะปานกลาง (ระยะที่ 2) คือ ระยะที่ก้อนมะเร็งมีขนาดปานกลาง (ใหญ่กว่า 2 เซนติเมตรแต่ไม่เกิน 5 เซนติเมตร) และ/หรือมีการลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองแล้วจำนวน 1 ถึง 3 ต่อม ระยะนี้ยังมีโอกาสรักษาให้หายขาดจากโรคได้และผลการรักษาดีรองลงมาจากระยะเริ่มแรก
  • ระยะลุกลามเฉพาะที่ (ระยะที่ 3) คือ ระยะที่มีก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ (มากกว่า 5 เซนติเมตร) และมีการลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้มากกว่า 4 ต่อมขึ้นไป โอกาสรักษาให้หายขาดจากโรคในระยะนี้จะลดน้อยลง มีโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำของโรคและการที่มะเร็งจะกระจายไปอวัยวะอื่นได้มาก ผลการรักษาโดยรวมจะไม่ดีเท่า 2 ระยะแรก
  • ระยะลุกลาม (ระยะที่ 4) คือ ระยะที่มะเร็งเต้านมได้กระจายลุกลามไปยังอวัยวะอื่นแล้ว ซึ่งอวัยวะที่พบมะเร็งเต้านมกระจายไปบ่อยได้แก่ ปอด ตับ กระดูก สมอง ระยะนี้มักไม่สามารถรักษาให้หายขาดจากโรคได้

การรักษามะเร็งเต้านม

การรักษามะเร็งเต้านม

การผ่าตัด (Surgery)

การผ่าตัดเป็นการรักษาหลักในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม โดยก่อนอื่นต้องทราบเป็นพื้นฐานก่อนว่า เมื่อมีก้อนมะเร็งเต้านมเกิดขึ้น อวัยวะแรกที่เซลส์มะเร็งเต้านมจะกระจายลุกลามไปถึงคือ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ดังนั้นการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมจึงต้องผ่าตัดทั้งบริเวณเต้านมและเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกไปด้วย ในปัจจุบันการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมวิธีมาตรฐานคือ การผ่าตัดเต้านมและต่อมน้ำเหลือง 

การผ่าตัดเต้านมและต่อมน้ำเหลือง Modified Radical Mastectomy (MRM)

การผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้าและเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมด เรียกการผ่าตัดนี้ว่า Modified Radical Mastectomy หรือย่อว่า MRM ซึ่งผลการรักษาดีเทียบเท่ากับวิธีการผ่าตัดรักษาในอดีตแต่ผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดน้อยกว่ามาก (สมัยก่อนนอกจากจะผ่าตัดเอาเนื้อเต้านมออกไปทั้งเต้าแล้ว ยังตัดเอากล้ามเนื้อผนังหน้าอกออกไปทั้งหมดอีกด้วย)

การผ่าตัดสงวนเต้านม (Breast Conserving Surgery)

จากการศึกษาและวิจัยทางการแพทย์พบว่าการผ่าตัดรักษาโดยการตัดเฉพาะก้อนมะเร็งออกโดยเหลือเนื้อเต้านมดีหุ้มก้อนมะเร็ง ไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมออกทั้งเต้า แต่ไปทำการฉายแสงบริเวณเต้านมที่เหลือแทน พบว่าผลของการรักษาในด้านการกลับเป็นซ้ำของโรคและการมีอายุยืนยาวของผู้ป่วยมากกว่า 5 ปีขึ้นไปไม่แตกต่างกันกับวิธีผ่าตัดรักษามาตรฐานเดิมคือ MRM เรียกวิธีการผ่าตัดนี้ว่า การผ่าตัดแบบสงวนเต้านม (Breast Conserving Surgery)

แต่ใช่ว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมทุกคนจะรักษาด้วยการผ่าตัดนี้ได้ เนื่องจากการผ่าตัดแบบสงวนเต้านมนี้ไม่สามารถทำได้ในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่สามารถฉายรังสีที่เต้านมได้ เช่น เคยได้รับการฉายรังสีที่หน้าอกมาก่อนหน้า หรือตั้งครรภ์อยู่ เป็นต้นและกลุ่มผู้ป่วยที่ก้อนมะเร็งเต้านมกระจายอยู่ทั่วทั้งเต้านมจนไม่สามารถผ่าตัดให้มีเนื้อดีหุ้มก้อนมะเร็งโดยรอบได้ จึงจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้าแทน

สร้างความมั่นใจด้วยการผ่าตัดตกแต่งและเสริมสร้างเต้านม

หลังผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้าเพื่อรักษาโรคมะเร็ง นอกจากสุขภาพกายที่เสียไปแล้ว สุขภาพจิตจากรูปลักษณ์ภายนอกที่ไม่มีเต้านมก็พลอยเสียตามไปด้วย จึงเป็นผลให้มีวิทยาการทางด้านการผ่าตัดตกแต่ง และเสริมสร้างเต้านมมาช่วยทำให้ผู้ป่วยมีเต้านมขึ้นใหม่ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับของเดิม โดยในผู้ป่วยแต่ละรายวิธีการผ่าตัดตกแต่งและเสริมสร้างเต้านมใหม่ที่เหมาะสมจะแตกต่างกันออกไป โดยวิธีการผ่าตัด มีตั้งแต่การใช้ไขมัน กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อของร่างกายผู้ป่วยเอง ได้แก่ จากหน้าท้อง (Transverse rectus abdominis myocutaneous or TRAM flap) และจากแผ่นหลัง (Latissimus dorsi or LD flap) และการใช้เต้านมเทียมหรือการเสริมซิลิโคน (Silicone breast implant) ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเหมือนคนปกติที่ยังมีเต้านมอยู่ มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ไม่สูญเสียความมั่นใจในการใช้ชีวิตในสังคมต่อไปหลังการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมแล้ว

ความจำเป็นในการเลาะต่อมน้ำเหลืองออกของผู้ป่วยเต้านม

การผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ จากเดิมที่ทำการเลาะต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมด พบว่ามีผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด เช่น ยกแขนได้ไม่สุดหรือยกไม่ขึ้น ชาบริเวณรักแร้และต้นแขน แขนบวมหรือมีแผลเรื้อรังที่แขน เป็นต้นได้ ข้อมูลทางการแพทย์ล่าสุดพบว่าในต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ทั้งหมดจะมีกลุ่มต่อมน้ำเหลืองกลุ่มแรกที่เซลส์มะเร็งเต้านมจะกระจายลุกลามมาถึงก่อน ต่อมน้ำเหลืองกลุ่มนี้เรียกว่า ต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล 

ซึ่งปัจจุบันสามารถใช้สารสีพิเศษฉีดที่เต้านมเพื่อจำลองการกระจายของเซลส์มะเร็งแล้วผ่าตัดเลาะเอาเฉพาะต่อมน้ำเหลืองที่ติดสารสีพิเศษนั้น (Sentinel lymph node biopsy) ซึ่งก็คือกลุ่มต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลไปให้พยาธิแพทย์ตรวจวินิจฉัยชิ้นเนื้อเร่งด่วนด้วยวิธีแช่แข็ง (Frozen section) ว่ามีเซลส์มะเร็งลุกลามไปถึงต่อมน้ำเหลืองแล้วหรือไม่ ถ้าพบว่าผลตรวจเป็นลบ แปลว่า ไม่มีการกระจายของเซลส์มะเร็งไปถึงต่อมน้ำเหลือง ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องเลาะต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมด ทำให้ผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดหลังการผ่าตัดลดน้อยลง แต่ถ้าพบว่าผลตรวจเป็นบวก ซึ่งแปลว่า มีเซลส์มะเร็งลุกลามไปถึงต่อมน้ำเหลืองกลุ่มแรกแล้ว ก็จำเป็นต้องทำการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออกทั้งหมดเพื่อรักษาและประเมินระยะของมะเร็งเต้านมต่อไป

ผ่าตัดมะเร็งเต้านม อยู่ได้กี่ปี

การรักษาก่อนการผ่าตัด (Neoadjuvant therapy)

ได้แก่การให้เคมีบำบัด ยามุ่งเป้า ยาต้านฮอร์โมนหรือการฉายแสง ก่อนการผ่าตัดเพื่อทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงจนทำให้ผลของการผ่าตัดรักษาดีขึ้น พิจารณาให้ในกรณีผู้ป่วยที่ก้อนมะเร็งเต้านมมีขนาดใหญ่มากกว่า 2-5 ซม.ขึ้นไป หรือ เป็นมะเร็งเต้านมชนิดอักเสบ (Inflammatory breast cancer) หรือมะเร็งมีการลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้มากจนคลำได้ก้อนตรงรักแร้ขนาดใหญ่ จนไม่สามารถผ่าตัดเอาออกได้ทั้งหมด โดยระหว่างที่ให้การรักษาจะมีการประเมินผลตอบสนองเป็นระยะ ๆ โดยดูจากขนาดของก้อนและระยะของมะเร็งล่าสุด

การรักษาหลังการผ่าตัด (Adjuvant therapy)

เพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านมโดยกำจัดเซลส์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่บริเวณเต้านมและทั่วร่างกาย ซึ่งจะให้การรักษาแต่ละชนิดเมื่อมีข้อบ่งชี้ในการรักษาเท่านั้น การรักษาที่ว่าประกอบด้วย

เคมีบำบัดหรือคีโม (Chemotherapy)

พิจารณาให้ถ้าขนาดของก้อนมะเร็งใหญ่กว่า 1 เซนติเมตรและ/หรือมีการกระจายของมะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้แล้ว ปกติการให้เคมีบำบัดในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจะมีสูตรยาเคมีหลายสูตร มีทั้งแบบใช้ยาตัวเดียวหรือยาหลายตัวผสมกัน ทั้งแบบยาฉีดหรือยากิน ทั้งแบบให้ยาทุกสัปดาห์และทุก 3-4 สัปดาห์ ใช้เวลาในการให้ยาเคมีครบประมาณ 3-6 เดือน และนอกจากยาเคมีจะไปทำลายเซลส์มะเร็งที่มีการเจริญเติบโตและแบ่งตัวอย่างรวดเร็วในร่างกายแล้ว ยังจะไปทำลายเซลส์ปกติของร่างกายที่มีการเจริญแบ่งตัวด้วย เช่น เซลส์เม็ดเลือด เกล็ดเลือด เนื้อเยื่อในช่องปาก ลำไส้ และ เส้นผม เป็นต้น ทำให้มีผลข้างเคียง เช่น การติดเชื้อ แผลในปาก เบื่ออาหาร คลิ่นไส้อาเจียน ท้องเสีย และผมร่วงได้

การฉายแสง (Radiation)

พิจารณาให้ในกรณีที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร มีการกระจายของมะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้แล้ว การฉายแสงส่วนใหญ่จะทำติดต่อกัน 4 ถึง 5 สัปดาห์ (ปกติจะฉายวันจันทร์ถึงวันศุกร์ หยุดพักวันเสาร์อาทิตย์) ฉายแสงไปที่บริเวณเต้านม ผนังหน้าอกและบริเวณรักแร้ ใช้เวลาในการฉายแสงแต่ละครั้งใช้เวลาไม่นานประมาณ 10-15 นาที ผลข้างเคียงจะมีอยู่เฉพาะตรงที่ได้รับรังสี เช่น ผิวหนังสีเข้มขึ้น ผิวหนังไหม้เล

ยาต้านฮอร์โมน (Endocrine or Hormonal therapy)

เมื่อนำก้อนเนื้อมะเร็งไปย้อมพิเศษเพื่อดูว่ามีตัวรับฮอร์โมนเพศหญิง เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน (Estrogen and Progesterone receptor) แล้วผลออกมาเป็นบวก แสดงว่ามะเร็งเต้านมนั้นมีการตอบสนองต่อฮอร์โมน ดังนั้นผู้ป่วยควรได้รับยาต้านฮอร์โมน โดยกินยาวันละ 1 เม็ดเป็นระยะเวลา 5 ปี

ยาตรงเป้า (Targeted therapy)

เมื่อนำก้อนเนื้อมะเร็งไปย้อมพิเศษแล้วผลตัวรับเฮอร์ทู (HER-2 receptor) ออกมาเป็นบวก แสดงว่า เป็นมะเร็งที่เกิดจากการกลายพันธุ์เพิ่มปริมาณของยีนก่อมะเร็งเฮอร์ทูซึ่งมีแนวโน้มที่จะลุกลามอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันสั้น มะเร็งเต้านมสายพันธุ์เฮอร์ทูพบได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ควรได้รับยาต้านเฮอร์ทู (Anti-HER2 therapy) โดยเป็นยาฉีดควบคู่ไปกับยาเคมีบำบัด

การตรวจติดตามหลังการผ่าตัด

อย่างที่ทราบกันดีว่ามะเร็งเต้านมเป็นปัญหาอันดับต้น ๆ ของสุขภาพสตรี เพราะโรคมะเร็งเต้านมหลังจากรักษาไปแล้วพบว่ามีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำหรือกระจายไปอวัยวะต่าง ๆ มากที่สุดในช่วงเวลา 2 ปีแรกหลังจากผ่าตัดรักษาไป ผู้ป่วยจึงจำเป็นที่จะต้องมาตรวจติดตามกับแพทย์เป็นระยะทุก 6 เดือนในช่วง 2 ปีแรกหลังจากนั้นก็ห่างออกเป็นปีละครั้งได้

หากมีข้อสงสัยสามารถทำนัด ปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลกับทีมศูนย์เต้านม ได้ที่ทุกช่องทางการติดต่อของโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา


บทความโดย

นพ. ฐาปนัสม์ ลิขิตมาศกุล

ศัลยแพทย์เต้านม ศูนย์เต้านม โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

ตรวจมะเร็งเต้านม

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง