Skip to content

การดูดไขมันที่ปลอดภัย

การดูดไขมัน (liposuction) เป็นหัตถการด้านศัลยกรรมตกแต่ง ความงามที่ทำบ่อยเป็นอันดับต้นๆ และมีรายงานพบอันตรายจากการทำหัตถการนี้เป็นระยะๆ แต่ก็ยังมีผู้รับบริการจำนวนมากที่ต้องการจะทำหัตกการนี้เพื่อกระชับสัดส่วนเพิ่มความั่นใจในการใส่เสื้อผ้า หรือทำร่วมกับหัตถการอื่น

ความรู้ในการเลือกที่จะดูดไขมันอย่างไรให้ปลอดภัยจึงจำเป็นที่ผู้ที่ต้องการดูดไขมันควรจะทราบก่อนจะตัดสินใจในการรับการผ่าตัด

การดูดไขมันที่ปลอดภัยควรประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก

1.good candidate (ผู้ที่เหมาะสมกับการดูดไขมัน )

การดูดไขมัน เป็นหัตถการในการกำจัดไขมันส่วนเกินเฉพาะส่วน ไม่ใช่หัตถการที่ใช้ในการลดน้ำหนักเนื่องจากไขมันมีน้ำหนักเบา ส่วนใหญ่แม้จะดูดไขมันออกไปหลายลิตรแต่น้ำหนักก็ลดไม่มาก

ผู้ที่เหมาะกับการดูดไขมัน

1.1 เป็นผู้ที่มีน้ำหนักในเกณฑ์ปกติ (normal BMI or within 30% of ideal body weight) และมีไขมันส่วนเกินเฉพาะส่วน โดยไม่สามารถลดได้หลังจากการการออกกำลังกายและคุมอาหาร โดยหลังจากลดน้ำหนักควรมีน้ำหนักที่คงที่ประมาณ 6 เดือน ถ้าน้ำหนักไม่คงที่อาจจะมีไขมันกลับมาสะสมใหม่
1.2 มีคุณภาพความยืดหยุ่นของผิวหนังที่ดี ผิวหนังที่หนาจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าบริเวณที่บาง แตกลายและหย่อนคล้อย การดูดไขมันไม่สามารถรับประกันการแก้ไขภาวะ เชลลูไลท์
1.3 ผู้ที่มีสุขภาพดีไม่มีโรคประจำตัว ไม่สูบบุหรี่ หรือ ดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าทานอาหารเสริม วิตะมินควรหยุดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ผู้ที่ต้องการจะดูุดไขมันควรจะได้รับทราบข้อมูลรวมถึงเข้าใจผลที่จะได้รับและความเสียงจากการผ่าตัดจากศัลยแพทย์ก่อนการผ่าตัด

2.safe place , equipments or technique

เนื่องจากเป็นหัตถการที่มีความเสี่ยงจึงควรทำในสถานพยาบาลที่มีการรับรองเรื่องความปลอดภัย ถ้าต้องดูดไขมันปริมาณมากควรทำภายใต้การดมยาสลบโดยการเฝ้าระวังจากวิสัญญีแพทย์ที่มีความชำนาญและควรนอนโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าสังเกตุอาการหลังฟื้นจากยาสลบ

เทคนิคการดูดไขมันด้วยอุปกรณ์เสริมเพื่อเพิ่มความปลอดภัย เช่น vaser liposuction เป็นการทำให้ก้อนไขมันมีการแตกตัวเป็นไขมันขนาดเล็กในของเหลวโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง(ultrasound) ก่อนจะถูกดูดโดยท่อขนาดที่เล็กและใช้แรงดันลบที่น้อย ทำให้สามารถดูดไขมันได้ในปริมาณที่มากขึ้น เสียเลือดน้อย และหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บต่อเส้นประสาท เส้นเลือดและอวัยวะข้างเคียง เมื่อเทียบกับการดูดไขมันโดยวิธีดั้งเดิม

3.doctors

การดูดไขมันแม้จะมีแผลขนาดเล็ก แต่ก็เป็นหัตถการทางศัลยกรรมความงามที่มีความเสี่ยง มีการเสียเลือด เสียสารน้ำและเกลือแร่ มีโอกาสที่จะเกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อ เส้นประสาท และอวัยวะข้างเคียง จึงควรถูกทำโดยศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและได้รับการผ่านฝึกฝนให้มีความชำนาญกับการดูแลผู้ป่วย

ความเสี่ยง และภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบจากการดูดไขมัน

– เลือดคั่ง เสียเลือดมาก
– ภาวะเสียสารน้ำ หรือความผิดปกติของเกลือแร่
– บวม ช้ำ น้ำเหลืองคั่ง
– ติดเชื้อบริเวณที่ผ่าตัด
– อาการชา หรือ แสบร้อนที่ผิวหนังมากกว่าปกติ
– แผลเป็น, ผิวหนังเป็นคลื่น ลอน ไม่เรียบ จากการดูดไขมันน้อย หรือมากไป หรือเกิดจากคุณภาพของผิวหนังที่ขาดความยืดหยุ่น
– การบาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียง เช่น กล้ามเนื้อ ผนังหน้าท้อง เส้นประสาท เป็นต้น
– ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (deep vein thrombosis , pulmonary emboli)หรือ ไขมันอุดตันในเส้นเลือด (fat emboli) เป็นภาวะที่พบได้น้อยแต่สามารถเป็นอันตรายแก่ชีวิต
– แพ้ยาชา หรือ พิษจากยาชาหรือยาสลบที่ เกินขนาด โดยมักเกิดในกรณีที่ดูดไขมันในคลินิกที่ไม่มีการเฝ้าระวังสัณญาณชีพขณะผ่าตัด

เขียนโดย นายแพทย์พูลศักดิ์ สัมฤทธิ์มโนพร

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง