Skip to content

การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

หน้าแรก  >  บทความเกี่ยวกับสุขภาพ

คนส่วนใหญ่มักพบความผิดปกติของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ จากการตรวจสุขภาพประจำปีโดยไม่เคยมีอาการแสดงมาก่อน ซึ่งถือเป็นความโชคดีที่ได้รับการรักษาตั้งแต่ต้น แต่บางรายไม่เคยตรวจหาความผิดปกติ จนกระทั่งเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ภาวะหัวใจล้มเหลวอันเกิดจากไขมันและหินปูนเกาะสะสมตามทางเดินหลอดเลือดจนตีบหรืออุดตัน ทั้งสองกรณีแพทย์มักจะต้องให้การรักษาทางยาก่อนเป็นอันดับแรก หากอาการรุนแรงกว่านั้นหรือไม่ดีขึ้น จึงใช้วิธีการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน (Balloon angioplasty) แต่ถ้าไม่สามารถใช้วิธีการรักษาทางยาและขยายหลอดเลือดได้ แพทย์จึงจะพิจารณาใช้วิธีการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Bypass surgery)

ก่อนการขยายหลอดเลือดหัวใจ แพทย์มักจะอัลตราซาวนด์ (Echocardiography) และตรวจสวนหัวใจ (Coronary angiography และ Left Ventriculography) ในการวินิจฉัยลักษณะและสภาวะของหลอดเลือดหัวใจอย่างละเอียดเพื่อดูการตีบแคบ ตำแหน่งการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ การบีบตัวของหัวใจ การตายของกล้ามเนื้อหัวใจ

การขยายหลอดเลือด้วยบอลลูนจะทำในบริเวณที่มีการตีบตันเพื่อให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอีกครั้ง โดยแพทย์จะใส่หลอดที่มีลักษณะยาว ผอม และปลายข้างหนึ่งมีบอลลูน ซึ่งยังไม่พองตัวเข้าไปในเส้นเลือดจนถึงตำแหน่งที่เกิดการตีบหรืออุดตันจึงถูกทำให้พองตัวและขยายหลอดเลือดบริเวณที่ตีบ แล้วจึงนำบอลลูนออก ในปัจจุบันแพทย์ยังนิยมใส่ขดลวดค้ำยันหลอดเลือดซึ่งมีลักษณะเป็นตาข่ายโลหะในจุดที่ขยายหลอดเลือดเพื่อป้องกันการกลับมาตีบซ้ำ (Vascular recoil)

การรักษาโรคหัวใจด้วยการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ หรือที่เรียกกันว่า “การผ่าตัดบายพาส” ใช้หลักการเดียวกับการตัดถนนใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่หนาแน่น ซึ่งก็คือหลอดเลือดที่มีปัญหาตีบตัน การผ่าตัดบายพาสจะนำหลอดเลือดดำที่ขา หลอดเลือดแดงที่ผนังหน้าอกหรือหลอดเลือดแดงที่แขนมาตัดต่อคร่อมหลอดเลือดที่ตีบหรืออุดตัน เพื่อทำทางเดินเลือดใหม่โดยไม่ต้องผ่านหลอดเลือดที่อุดตัน การทำบายพาสสามารถทำได้มากกว่า 1 จุด ในเส้นเลือดเดี่ยวกัน

การทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจมีสิ่งที่ต้องพิจารณา ดังนี้
  • การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม (Off Pump Procedures) เป็นการผ่าตัดโดยใช้เฉพาะเครื่องมือเกาะยึดหัวใจในจุดที่จะทำการต่อหลอดเลือดให้หยุดนิ่งในขณะที่ส่วนอื่นของหัวใจยังเต้นเป็นปกติ ซึ่งทำให้ใช้ปริมาณเลือดน้อยลง ระยะเวลาการผ่าตัดและดมยาสลบสั้นลง อีกทั้งใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลสั้นและเป็นผลดีกับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอัตราเสี่ยงสูงหรือโรคแทรกซ้อนมาก
  • การผ่าตัดโดยใช้หลอดเลือดแดง (All Arterial Conduits) ได้รับการยอมรับว่ามีผลดีมากต่อผู้ป่วยในระยะยาว โดยเฉพาะหลอดเลือดแดงจากหน้าอกที่นำมาต่อกับหลอดเลือดหัวใจทางด้านหน้าให้ผลการผ่าตัดดีมาก หลอดเลือดแดงมีความคงทนมากกว่าและโอกาสตีบช้ำน้อยกว่าหลอดเลือดดำทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตได้นานกว่าวิธีอื่น ปัจจุบันศัลยแพทย์จะไม่นิยมใช้หลอดเลือดดำจากขายกเว้นไม่สามารถหาหลอดเลือดแดงจากที่อื่นได้
  • การผ่าตัดที่มีแผลขนาดเล็กและไม่มีแผลที่ขา (Small Incision) จะไม่มีแผลเป็นที่มีขนาดยาวเหมือนการผ่าตัดแบบเก่า ทำให้มีอาการปวดแผลน้อยลง การเจ็บบริเวณสันอกที่ถูกผ่าตัดน้อยลง เส้นประสาทและเนื้อเยื่อถูกทำลายน้อยลง การผ่าตัดที่ไม่ใช้หลอดเลือดดำจากขาจะทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวและเคลื่อนไหวได้เร็วขึ้นด้วย

แม้การรักษาในปัจจุบันจะมีวิวัฒนาการไปมากเพียงไรแต่การป้องกันก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดความสูญเสียทั้งในเรื่องทรัพย์สินเงินทองและเวลา ดังนั้นจึงควรดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดพฤติกรมที่ก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยง และตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์หัวใจ โทร.1719

แชร์ :

บทความสุขภาพที่เกี่ยวข้อง